Computer vision syndrome

Updated 2015-06-03 11:06:00 by นพ. รัฐ อิทธิพานิชพงศ์


        Computer vision syndrome คือ กลุ่มอาการทางตาที่เกิดจากการใช้สายตากับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน 
โดยจะมีอาการดังกล่างข้างต้น   มีการศึกษาพบว่าประมาณ 90% ของผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน
เคยประสบกับหนึ่งในกลุ่มอาการนี้ 

        ทั้งนี้อาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่นขณะเราจดจ่อกับการอ่านหนังสือหรือจ้องจอคอมพิวเตอร์ เราจะกระพริบตาน้อยลงจึงทำให้
เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น  แสงสว่างภายในห้องที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งการมีแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์ 
การที่ตัวอักษรบนจอคอมพิวเตอร์ไม่เรียบคมชัดเท่าตัวพิมพ์บนหน้าหนังสือ หรือการมีความไม่นิ่งของสัญญาณในจอคอมพิวเตอร์ 
ซึ่งทำให้เราต้องใช้ความพยายามในการโฟกัสมากขึ้นจึงก่อให้เกิดอาการตาเมื่อยล้าได้ง่ายขึ้น ระยะห่างจากหน้าจอ ระดับสายตา
ในการมองจอคอมพิวเตอร์ หรือท่าทางในการนั่งทำงานที่ไม่เหมาะสม
    
         แม้ว่ากลุ่มอาการนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อตาหรือการมองเห็น แต่มักก่อให้เกิดความไม่สบายตา และอาจเป็นปัญหา
รบกวนการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งวิธีการง่ายๆที่จะช่วยป้องกันหรือหลีกเลี่ยง computer vision syndrome มีดังนี้คือ

1.ปรับระดับการมองเห็นและปรับท่าทางในการนั่งทำงานให้เหมาะสม 
      - จุดศูนย์กลางของจอคอมพิวเตอร์ควรห่างจากตาประมาณ 20-28 นิ้ว และต่ำจากระดับสายตา 4-5 นิ้ว 
      - แป้นพิมพ์ควรวางอยู่ในระดับต่ำกว่าจอ โดยให้ข้อมือและแขนขนานไปกับพื้น ข้อศอกตั้งฉาก ไม่อยู่ในลักษณะเอื้อมไปข้างหน้า
      - ปรับระดับเก้าอี้โดยให้ฝ่าเท้าวางราบไปกับพื้น เข่าตั้งฉาก ต้นขาขนานไปกับพื้น อาจมีที่วางข้อศอกและแขนเพื่อลดอาการล้าที่หัวไหล่ 
         แขน และข้อมือ
      - เอกสารสิ่งพิมพ์ หรือหนังสือควรวางอยู่ในระดับและระยะเดียวกับจอ เพื่อไม่ต้องขยับหรือหันศีรษะและเปลี่ยนการปรับโฟกัสมากเกินไป

2. ปรับแสงสว่างจากภายนอกและจากจอคอมพิวเตอร์
     - ปิดม่านหน้าต่าง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีแสงแดดหรือแสงสว่างจากภายนอกส่องกระทบจอคอมพิวเตอร์แสงห้องทำงานที่สว่างเกินไปจะก่อ
        ให้เกิดแสงสะท้อนที่จอได้ง่าย ทำให้รู้สึกไม่สบายตา 
     - อาจใช้แผ่นกันแสงสะท้อนติดหน้าจอภาพ
     - ปรับความสว่างของหน้าจอและความแตกต่างของสีระหว่างพื้นจอและตัวอักษรให้สามารถมองเห็นได้คมชัดและสบายตาที่สุด

3. พักสายตาระหว่างการทำงาน
     - หลังจากใช้สายตาเป็นเวลาติดต่อกันนาน 20 นาที ควรละสายตาออกจากจอคอมพิวเตอร์และมองออกไปในระยะไกล 20 วินาที 
        นอกจากนี้ทุกๆ 2 ชั่วโมง ควรพักสายตาหรือลุกจากโต๊ะทำงานเพื่อเป็นการป่อนคลายเป็นเวลาอย่างน้อย 15-20 นาที

4. กระพริบตาบ่อยขึ้น หรือหยอดน้ำตาเทียม เพื่อช่วยลดอาการตาแห้งและช่วยให้สบายตาขึ้น

5. พบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวัดสายตา
    
         แม้ว่าคุณจะไม่เคยมีปัญหาด้านสายตาและไม่จำเป็นต้องใช้แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ในชีวิตประจำวันมาก่อน แต่สายตาผิดปกติ
ที่ไม่ได้รับการแก้ไข   ปัญหาในการปรับโฟกัส หรือภาวะสายตาที่เปลี่ยนแปลงตามอายุ อาจเป็นสาเหตุของอาการตาเมื่อยล้า ปวดตา 
หรือ อาจซ้ำเติมให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้น จึงควรพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง

เรียบเรียงโดย

พญ. วีรยา พิมลรัฐ