เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบการวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2538

Updated 2004-11-24 00:00:00


ข้อบังคับแพทยสภา
ว่าด้วยราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2538 และ พ.ศ. 2541 (ฉบับที่ 2)
-----------------------------------------
หมวด 1
ชื่อ เครื่องหมาย ครุยวิทยฐานะ วัตถุประสงค์ และหน้าที่



ข้อ 1 ให้มีวิทยาลัยขึ้นในแพทยสภามีชื่อว่า "ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย" มีชื่อย่อว่า ร.จ.ท. ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า The Royal College of Ophthalmologists of Thailand มีชื่อย่อว่า RCOPT.
ให้มีเครื่องหมายประจำวิทยาลัย ซึ่งคณะผู้บริหารวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดขึ้น
ให้มีครุยวิทยฐานะสำหรับสมาชิก ซึ่งคณะผู้บริหารวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดขึ้น
ข้อ 2 วิทยาลัยแห่งนี้มีวัตถุประสงค์ปฏิบัติการให้บรรลุวัตถุประสงค์ของแพทยสภา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ทั้งนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับจักษุวิทยา
ข้อ 3 ให้วิทยาลัยมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายจากแพทยสภา ในการฝึกอบรมและสอบเพื่อเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาจักษุวิทยา
(2) กำหนดและควบคุมมาตรฐานทางวิชาการในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของจักษุแพทย์ในประเทศไทย รวมทั้งสอดส่องดูแลและส่งเสริมความประพฤติและจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของสมาชิก
(3) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และแนะแนววิชาการทางจักษุวิทยา
(4) จัดการประชุมทางวิชาการ การศึกษาต่อเนื่อง และกิจกรรมต่างๆ สำหรับสมาชิก
(5) เป็นศูนย์กลางการติดต่อและแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ และกิจกรรมอื่นๆกับวิทยาลัย สมาคมหรือชมรมต่างๆ ในวิชาชีพเวชกรรม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
(6) ส่งเสริมและผดุงเกียรติของสมาชิก
(7) ส่งเสริมและสร้างความเข้าใจอันดีงามและความสามัคคีในหมู่สมาชิก และระหว่างสมาชิกกับแพทย์สาขาวิชาอื่น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
(8) จัดหาทุนและผลประโยชน์อื่นๆ เพื่อใช้ในกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ของวิทยาลัย รวมทั้งเพื่อการศึกษาและวิจัยในทางจักษุวิทยา
(9) เผยแพร่ความรู้ทางจักษุวิทยา อันเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและแก่วิชาชีพเวชกรรม
(10) ออกระเบียบต่างๆ ของวิทยาลัย ทั้งนี้โดยไม่ขัดกับพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรมและข้อบังคับของแพทยสภา
(11) รายงานกิจการและกิจกรรมต่างๆ ของวิทยาลัยต่อแพทยสภาเป็นประจำปี หรือตามที่แพทยสภาขอให้รายงาน
(12) ดำเนินการหรือให้ความร่วมมือกับทางราชการ หรือองค์กรสาธารณกุศลที่รัฐบาลรับรอง ในการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ประชาชนในงานสาขาจักษุวิทยา ตามความจำเป็นและเหมาะสม

หมวด 2
สมาชิก

ข้อ 1 วิทยาลัยมีสมาชิกได้ 3 ประเภท คือ
(1) สมาชิกสามัญ ต้องเป็นสมาชิกแพทยสภา และเป็นผู้ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาจักษุวิทยา
(2) สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ ผู้มีคุณสมบัติเป็นสมาชิกแพทยสภา และเป็นผู้ที่ได้ปฏิบัติงานทางจักษุวิทยา ตามระเบียบของวิทยาลัย ทั้งนี้โดยความเห็นชอบของคณะผู้บริหารวิทยาลัย
(3) สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิที่วิทยาลัยเชิญให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์
ข้อ 2 สมาชิกสามัญของวิทยาลัยมีสิทธิใช้อภิไธยว่า สมาชิกราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย หรืออภิไธยย่อว่า ส.ร.จ.ท. ใช้อภิไธยภาษาอังกฤษว่า Fellow of the Royal College of Ophthalmologists of Thailand หรืออภิไธยย่อว่า FRCOPT
ข้อ 3 สมาชิกกิตติมศักดิ์ของวิทยาลัยมีสิทธิใช้อภิไธยว่า สมาชิกกิตติมศักดิ์ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย หรืออภิไธยย่อว่า ส.ร.จ.ท. (กิตติมศักดิ์) ใช้อภิไธยภาษาอังกฤษว่า Honorary Fellow of the Royal College of Ophthalmologists of Thailand หรืออภิไธยย่อว่า FRCOPT.(Honorary)
ข้อ 4 สมาชิกสามัญและสมาชิกกิตติมศักดิ์ของวิทยาลัย มีสิทธิใช้เครื่องหมายของวิทยาลัย และสวมครุยวิทยฐานะตามระเบียบของวิทยาลัย

หมวด 3
คณะผู้บริหารวิทยาลัย

ข้อ 1 ให้คณะผู้บริหารวิทยาลัยประกอบด้วย
(1) ประธาน 1 คน
(2) รองประธาน 1 คน
(3) เลขาธิการ 1 คน
(4) เหรัญญิก 1 คน
(5) ประธานวิชาการ 1 คน
(6) กรรมการกลาง 10 คน
ข้อ 2 ให้สมาชิกสามัญของวิทยาลัยเป็นผู้เลือกตั้งคณะผู้บริหารวิทยาลัยจากสมาชิกสามัญของวิทยาลัยจำนวน 10 คน โดยเลือกเป็นประธาน 1 คน แล้วให้ประธานแต่งตั้งกรรมการวิทยาลัย เพิ่มเติมอีก 5 คน
ข้อ 3 คณะผู้บริหารวิทยาลัยมีวาระคราวละ 2 ปี เมื่อพ้นจากตำแหน่งอาจรับเลือกตั้งใหม่ได้ ยกเว้นประธานวิทยาลัย จะอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ และในกรณีที่ผู้บริหารวิทยาลัยเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งแทนคนเก่าที่ลาออก จะพ้นจากตำแหน่งพร้อมกับคณะผู้บริหารวิทยาลัยในวาระนั้นๆ
ข้อ 4 นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระแล้ว ผู้บริหารวิทยาลัยพ้นจากตำแหน่งเฉพาะตัวเมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) ขาดจากการเป็นสมาชิกสามัญของวิทยาลัย
(4) ขาดจากการเป็นสมาชิกสามัญของแพทยสภา
ข้อ 5 ให้คณะผู้บริหารวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ดำเนินกิจการของวิทยาลัย ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามหมวด 1 ข้อ 2
(2) ออกระเบียบการเข้าเป็นสมาชิกวิทยาลัย การขาดจากสมาชิกภาพ สิทธิ และหน้าที่สมาชิก
(3) ออกระเบียบการเลือกตั้งคณะผู้บริหารวิทยาลัย
(4) ออกระเบียบเกี่ยวกับการเงิน ค่าจดทะเบียนสมาชิก ค่าบำรุงวิทยาลัย และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของวิทยาลัย
(5) ออกระเบียบเกี่ยวกับการประชุมต่างๆ ของวิทยาลัย
(6) ออกระเบียบอื่นๆ เกี่ยวกับกิจการต่างๆ ที่อยู่ภายในหน้าที่ และวัตถุประสงค์ของวิทยาลัย
(7) แต่งตั้งอนุกรรมการของวิทยาลัยเพื่อช่วยดำเนินกิจกรรมต่างๆ
(8) เสนอระเบียบต่างๆ ที่ออกโดยวิทยาลัยต่อคณะกรรมการแพทยสภา เพื่อทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศใช้ระเบียบดังกล่าว

หมวด 4
การเงิน

ข้อ 1 วิทยาลัยอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้
(1) ค่าจดทะเบียนสมาชิก ค่าบำรุงวิทยาลัย และค่าธรรมเนียมต่างๆ
(2) ทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้
(3) ผลประโยชน์จากกิจกรรม
ข้อ 2 ให้ประธาน เลขาธิการ และเหรัญญิก เป็นผู้รับผิดชอบในการรักษาเงิน และการอนุมัติจ่ายเงินตามระเบียบของวิทยาลัย
ข้อ 3 ให้คณะผู้บริหารวิทยาลัยแสดงบัญชีงบดุลประจำปีต่อที่ประชุม เพื่อให้สมาชิกสามัญรับรองตามระเบียบของวิทยาลัย และนำเสนอคณะกรรมการแพทยสภาเพื่อทราบ

หมวด 5
บทเฉพาะกาล

ข้อ 1 ให้ผู้มีรายนามต่อไปนี้ เป็นผู้บริหารวิทยาลัยเฉพาะกาล ทำหน้าที่บริหารวิทยาลัยเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการเลือกตั้งผู้บริหารวิทยาลัย ตามข้อ 4
ประธาน นายแพทย์ประจักษ์ ประจักษ์เวช
รองประธาน แพทย์หญิงจวงจันทร์ ชันซื่อ
เลขาธิการ นายแพทย์ ม.ร.ว.พรสวัสดิ์ นันทวัน
เหรัญญิก แพทย์หญิงสุดารัตน์ ใหญ่สว่าง
ประธานวิชาการ นายแพทย์เทียม หล่อเทียนทอง
กรรมการกลาง นายแพทย์ปราโมทย์ ทุมวิภาต
นายแพทย์วิสุทธิ์ ตันศิริคงคล
แพทย์หญิงญาณี เจียมไชยศรี
แพทย์หญิงสกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
แพทย์หญิงผกา นิยมวิภาต
ข้อ 2 ให้คณะผู้บริหารวิทยาลัยเฉพาะกาลทำทะเบียนสมาชิกก่อตั้งวิทยาลัยเสนอต่อคณะกรรมการแพทยสภาภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ประกาศใช้ข้อบังคับนี้ เพื่อคณะกรรมการแพทยสภาอนุมัติ และให้เก็บรักษาทะเบียนนี้ไว้ที่สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา
ข้อ 3 ให้สมาชิกก่อตั้งวิทยาลัยที่แพทยสภาอนุมัติ เป็นสมาชิกสามัญของวิทยาลัยตั้งแต่วันที่อนุมัติ
ข้อ 4 ให้คณะผู้บริหารวิทยาลัยเฉพาะกาล ดำเนินการเลือกตั้งคณะผู้บริหารวิทยาลัยตามหมวด 3 ข้อ 2 ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่แพทยสภาอนุมัติสมาชิกก่อตั้งวิทยาลัย แล้วเสนอแพทยสภาเพื่อทราบ

ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

รวบรวมโดยราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
มกราคม 2546