ประวัติราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย

Updated 2022-01-27 08:55:00


ประวัติราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย

The Royal College of Ophthalmologists of Thailand (RCOPT)

 

สมาคมจักษุแพทย์แห่ง ประเทศไทย และราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย มีจุดกำเนิดและขั้นตอนความเป็นมาที่สำคัญ ควรค่าแก่การบันทึกไว้ให้จักษุแพทย์รุ่นหลัง ได้ทราบถึงเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งตามลำดับ ดังนี้

  1. สมาคมจักษุ โสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งวันที่ 20 กรกฎาคม 2499
  2. สมาคมจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งวันที่ 22 มิถุนายน 2521
  3. วิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งวันที่ 21 มิถุนายน 2535
  4. ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งวันที่ 12 มิถุนายน 2538

ใน ปี พ.ศ. 2498 แพทย์ที่ปฏิบัติงานด้าน ตา หู คอ จมูก ได้ร่วมประชุมกันเพื่อร่างระเบียบข้อบังคับในการจัดตั้งสมาคมขึ้น นับว่าเป็นสมาคมแพทย์เฉพาะทางสมาคมแรกของประเทศไทย ซึ่งพวกเราที่เป็นจักษุแพทย์รุ่นหลังรู้สึกภาคภูมิใจในวิสัยทัศน์ของท่าน ปรมาจารย์เหล่านั้น ท่านอาจารย์ น.อ.สดับ ธีระบุตร ผู้ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของการประชุมได้ดำเนินการจดทะเบียน โดยได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสมาคมจากสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2499โดยมี พันโทหลวงประจักษ์ เวชสิทธิ์ เป็นนายกสมาคมคนแรกกิจกรรมของสมาคมดำเนินมาด้วยดีมีจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้น ความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิชาการเฉพาะทางทำให้จักษุแพทย์ และแพทย์ทางหู คอ จมูก มีการทำงานทั้งทางด้านการรักษาพยาบาล และด้านวิชาการแตกต่างแยกจากกันอย่างชัดเจน จึงได้แยกสมาคมออกเป็นสองสมาคม โดยมีการแยกไปตั้งเป็นสมาคมโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทยส่วนทางจักษุแพทย์โดยท่านอาจารย์นิสิต ลีละวงศ์ ได้เป็นผู้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อสมาคมเดิมเป็นสมาคมจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย มีท่านอาจารย์กอบชัย พรหมินทะโรจน์เป็นนายกสมาคมคนแรก โดยจดทะเบียน เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2521

 
ตราสัญลักษณ์ของสมาคมจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย  

 

     ใน ปี พ.ศ.2533 แพทยสภาเห็นสมควรให้สมาคมแพทย์สาขาต่างๆจัดตั้งเป็นวิทยาลัยและดำเนินการตาม ข้อบังคับของแพทยสภาว่าด้วยวิทยาลัยทางสมาคมจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยซึ่งมี ศาสตราจารย์นายแพทย์ประจักษ์ ประจักษ์เวช เป็นนายกสมาคม ได้มอบหมายให้ศาสตราจารย์นายแพทย์เทียม หล่อเทียนทอง และรองศาสตราจารย์นายแพทย์ ม.ร.ว. พรสวัสดิ์ นันทวันเป็นผู้ดำเนินการประสานงาน และจัดทำร่างข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วย วิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2535 ได้มีการแต่งตั้งผู้บริหารวิทยาลัยเฉพาะกาล ทำหน้าที่บริหารเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง จนกระทั่งวันที่ 21 เมษายน 2535 จึงได้รับอนุมัติจากแพทยสภาและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

ในครั้งนั้นวิทยาลัยมีสมาชิกก่อตั้งจำนวน 201 คน ต่อมาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2535 ได้มีการเลือกตั้งประธานวิทยาลัยพร้อมทั้งกรรมการบริหารในการประชุมใหญ่ สามัญประจำปี ที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คณะผู้บริหารวิทยาลัยเฉพาะกาลให้เป็น คณะกรรมการผู้บริหารวิทยาลัยต่อไป โดยมีวาระ 2 ปี และในปี 2537 คณะกรรมการชุดนี้ยังได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกโดยได้รับการเลือกตั้งให้ บริหารวิทยาลัย ต่ออีกหนึ่งวาระเมื่อก่อตั้งวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยขึ้นแล้ว ได้มีมติที่สำคัญในการประชุมใหญ่สมาชิกสามัญประจำปีคือ ให้คงสมาคมจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยไว้ โดยสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าวิทยาลัยนั้นดำเนินการภายใต้การดูแลของแพทยสภา ซึ่งเปรียบเหมือนสถาบันแม่ ของวิทยาลัยต่างๆ มีกฎหมายรองรับซึ่งเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานและติดต่อในทางราชการโดยเฉพาะ ในเรื่อง การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน และการสอบเพื่อหนังสืออนุมัติและวุฒิบัตร

 

ส่วนสมาคมจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยนั้นมีเกียรติประวัติอันยาวนานน่าภาคภูมิ เป็นเสมือนมรดกของจักษุแพทย์ทุกคน และยังมีลักษณะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย สามารถทำนิติกรรมได้ด้วยตนเอง ต่างจากวิทยาลัยซึ่งต้องผ่านทางแพทยสภาในปี พ.ศ.2537 คณะกรรมการของราชวิทยาลัย และวิทยาลัยทางการแพทย์เฉพาะทางต่างๆได้ร่วมกันปรึกษาหารือเพื่อก่อตั้ง กลุ่มสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางแห่งประเทศไทย (Consortium of Medical Specialties Training Institution of Thailand) ในขั้นแรกประกอบด้วย 9 สถาบัน คือ

  1. ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
  2. ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
  3. ราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย
  4. ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
  5. ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
  6. วิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย
  7. วิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
  8. วิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย
  9. วิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย

     กลุ่ม สถาบันฯ โดยศาสตราจารย์นายแพทย์อรุณ เผ่าสวัสดิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานกลุ่ม มีวัตถุประสงค์หลักที่จะต้องดำเนินการ 2 ประการคือ

  1. จัด กิจกรรมต่างๆ และจัดประชุมทางวิชาการครั้งยิ่งใหญ่ร่วมกัน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีกาญจนาภิเษก ในปี พ.ศ.2539
  2. จัด สร้างอาคารเป็นที่ทำการถาวรของกลุ่มสถาบันฯ โดยมีแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้ามาร่วมกลุ่มและกิจการนี้ด้วย แพทยสมาคมฯ ได้อนุมัติให้สร้างอาคารสำนักงานและสถานที่จัดการประชุมของกลุ่มสถาบันฯ บนที่ดินของแพทยสมาคมฯ

     เพื่อ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว กลุ่มสถาบันฯ ได้กราบบังคมทูลเชิญและได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร ทรงรับเป็นองค์ประธานจัดสร้างอาคาร ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามว่า อาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี อาคารนี้เป็นอาคารที่ทันสมัยสูง 12 ชั้น ค่าก่อสร้างและค่าดำเนินการประมาณ 440 ล้านบาท สร้างบนที่ดิน 4 ไร่ ของแพทยสมาคมฯตั้งอยู่ที่ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ ซึ่งต่อมาเมื่อวันอังคารที่ 18 มีนาคม 2540 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร ได้เสด็จแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงเปิดอาคารเฉลิมพระ บารมี ๕๐ปี

 

  เนื่องด้วยสถานภาพของสถาบันต่างๆ ในกลุ่มยังมีความแตกต่างกันกล่าวคือ ประกอบด้วย 5 ราชวิทยาลัย และ 4 วิทยาลัย ทั้งที่แต่ละสถาบันมีกรรมการ และสมาชิกเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ เช่นเดียวกัน มีกิจกรรมทางด้านวิชาการ การให้บริการรักษาแก่ประชาชนที่เจ็บป่วยและยังเป็นแพทย์อาสารับ ใช้สนองพระมหากรุณาธิคุณตามเสด็จเพื่อให้การดูและรักษาผู้เจ็บป่วยในท้อง ถิ่นต่างๆ ที่เสด็จแปรพระราชฐานตลอดมา จึงเห็นสมควรกราบบังคมทูลพระกรุณา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงรับให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาปนาวิทยาลัย 4 แห่ง ให้เป็นราชวิทยาลัย สำหรับวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยนั้น ได้มอบหมายให้รองศาสตราจารย์นายแพทย์ ม.ร.ว.พรสวัสดิ์ นันทวัน เป็นผู้ประสานงาน ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาปนาเป็นราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2538 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้แก่จักษุ แพทย์ ทั้งปวงราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย มีชื่อย่อว่า ร.จ.ท.ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า The Royal College of Ophthalmologists of Thailand มีชื่อย่อว่าRCOPTโดยคณะกรรมการบริหารราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ชุดแรกยังคงเป็นกรรมการชุดเดิมซึ่งก็คือกรรมการชุดแรกของวิทยาลัยจักษุแพทย์ แห่งประเทศไทย ต่อมาในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 คณะกรรมการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยและคณะกรรมการสมาคมจักษุแพทย์ แห่งประเทศไทย ได้มีการประชุมและลงมติที่มีความสำคัญคือให้คณะกรรมการทั้งสองชุดเป็นบุคคล เดียวกัน เพื่อให้เกิดความสอดคล้องในการดำเนินงาน ขจัดข้อแตกต่างที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในด้านนโยบายและการปฏิบัติ

 

 
ตราสัญลักษณ์เครื่องหมายประจำราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย

     เครื่อง หมายประจำราชวิทยาลัยมีรูปทรงคล้ายดวงตา มีอักษรย่อ ร.จ.ท. อยู่ตรงกลาง ลักษณะเป็นทรงกลมเช่นเดียวกับกระจกตา (สีเงิน)  ด้านบนมีตรามหามงกุฎ และเลข ๙ แสดงถึงการได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าให้เป็นราชวิทยาลัย (สีทอง) ด้านล่างมีคำว่า ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย (พื้นสีชมพูอ่อน) และ พ.ศ. 2538 (พื้นสีชมพูเข้ม) ซึ่งเป็นปีที่ก่อตั้งในปัจจุบัน (พ.ศ.2548) ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยได้ปฏิบัติภาระหน้าที่ และดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะกรรมการมาแล้วรวม 6 ชุด ซึ่งมีประธานราชวิทยาลัยชุดต่างๆดังนี้ 

1. ศาสตราจารย์นายแพทย์ประจักษ์ ประจักษ์เวช  พ.ศ.2538 - 2539
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงจวงจันทร์ ชันซื่อ พ.ศ.2539 - 2541
3. ศาสตราจารย์นายแพทย์วิสุทธิ์ ตันศิริคงคล พ.ศ.2541-  2543
4. รองศาสตราจารย์นายแพทย์ ม.ร.ว.พรสวัสดิ์ นันทวัน พ.ศ.2543 - 2544
5. รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงคุณไธวดี ดุลยจินดา พ.ศ.2544 - 2547
6. รองศาสตราจารย์นายแพทย์อภิชาติ สิงคาลวณิช      พ.ศ.2547 - 2549
7. รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุดารัตน์  ใหญ่สว่าง พ.ศ.2549 - 2553
8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ศักดิ์ชัย  วงศกิตติรักษ์ พ.ศ.2553 – 2555
9. นายแพทย์ไพศาล  ร่วมวิบูลย์สุข    พ.ศ.2555 – 2558
10. รองศาสตราจารย์นายแพทย์อนุชิต ปุญญทลังค์                                                 พ.ศ.2559 - 2563
11. ศ.พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว                                                                                พ.ศ.2564 - 2565