Thai Eye Research Was Hot in US Media!

Updated 2013-06-10 15:15:03



Thai Eye Research Was Hot in US Media!




นพ.พรพัฒนะ วิจิตรเวชไพศาล

 

 

สัมภาษณ์จักษุแพทย์รุ่นใหม่กับผลงานวิจัยที่เป็นที่สนใจของ
และได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในสามนวัตกรรมทางจักษุประจำปี 2012 ของ AAO 
สื่ออเมริกาซึ่งปัจจุบันมียอดคนดูกว่า 50ล้านวิว

ช่วยแนะนำตัวเองหน่อยครับ

ผม นพ.พรพัฒนะ วิจิตรเวชไพศาล (หมออาร์ส), จบการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านจักษุวิทยา จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ปัจจุบันเป็นแพทย์ต่อยอดสาขาจักษุวิทยาเด็กและตาเข มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ภายใต้การฝึกอบรมของ รศ.พญ.สุภาภรณ์ และผศ.พญ.เพ็นนี สิงหะ), โดยมีต้นสังกัดการฝึกอบรมจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)

ช่วยเล่าถึงงานวิจัยที่ไปนำเสนอหน่อยครับ

“ผลของการกระตุ้นสมองด้วยวิธีการแทรกสอดของเสียง ต่อระดับความวิตกกังวล ในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดตา โดยการใช้ยาชาเฉพาะที่” หรือ  “The Effect of Binaural Beat Audio on Operative Anxiety in Patients Undergoing Local Anesthesia for Ophthalmic Surgery” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่ศึกษาตอนเป็นแพทย์ประจำบ้าน โดยมีอ.นพ.ดำรงค์ วิวัฒน์วงศ์วนา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย

ไปนำเสนอแบบ poster presentation ใน AAO 2012, Chicago (USA), เนื่องจากเคยนำเสนอผลงานเรื่องนี้แบบ oral presentation ไปครั้งหนึ่งในงาน APAO 2012, busan (korea)

โดยผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในงานประกวดผลงานวิจัยแพทย์ประจำบ้านจักษุวิทยา จัดโดยราชวิทยาลัยจักษุแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2554

ที่มาของงานวิจัย

การผ่าตัดทางจักษุวิทยาส่วนใหญ่จะเป็นการผ่าตัดในขณะทีผู้ป่วยตื่นและรู้สึกตัวดีอยู่ตลอดเวลา, สภาวะแวดล้อมในห้องผ่าตัดที่ผู้ป่วยไม่คุ้นเคย ความคาดหวังผลจากการผ่าตัด และเสียงที่ผู้ป่วยได้ยินในขณะผ่าตัด ล้วนสามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวลมากขึ้นได้ จึงเป็นที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้ โดยในงานวิจัยนี้ได้นำเสียงบำบัดสมองมาใช้เพื่อลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยในขณะผ่าตัดต้อกระจก และประเมินถึงระดับความวิตกกังวลที่ลดลง ควบคู่ไปกับประเมินความดันโลหิตและชีพจร ว่าสัมพันธ์กันมากน้อยแค่ไหน

เสียงบำบัดสมองคืออะไร

เสียงบำบัดสมองคือเสียงสังเคราะห์ที่เราสร้างขึ้น ซึ่งในงานวิจัยประกอบด้วยเสียง 3 ประเภท ได้แก่

 

  1. เสียงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม; ได้แก่ นกร้อง, เสียงคลื่น,…
  2. เสียงดนตรี ซึ่งเป็นประเภท trance music หรือ rhythmic music ซึ่งมีลักษณะเป็นเสียงดนตรีที่วนต่อเนื่อง
  3. เสียงแทรกสอด (Binaural beat audio)

 

เสียงแทรกสอด (binaural beat audio) คืออะไร

คือการใช้เสียงความถี่ต่ำซึ่งเกิดจากการแทรกสอดของเสียงสองเสียง ที่มีความถี่ต่างกันไม่มาก มากระตุ้นสมองผ่านการฟังและการนำคลื่นเสียงผ่านกระโหลกศีรษะ

              ตัวอย่างเช่น ถ้าความถี่ของเสียงที่ได้ยินโดยหูข้างซ้ายหรือนำผ่านกระโหลกศีรษะเท่ากับ 400 Hz, แต่ข้างขวาเท่ากับ 410 Hz จะได้ความถี่ที่เกิดจากการแทรกสอดในสมองเท่ากับ 10 Hz เป็นต้น

              อิงจากการศึกษาและวิจัยอื่น พบว่าสามารถเหนี่ยวนำให้คลื่นสมองในระดับหนึ่งเปลี่ยนไปอีกระดับหนึ่งได้ เช่น ถ้าต้องการเปลี่ยนคลื่นสมองจากสภาวะที่ตื่นตัวหรือความถี่คลื่นสมองอยู่ในช่วง Beta (20 Hz) ไปเป็นสภาวะที่ผ่อนคลาย หรือความถี่คลื่นสมองอยู่ในช่วง Alpha (10 Hz) จะเริ่มบำบัดด้วยเพลงหรือเสียงที่มีความถี่บี 20 Hz ในช่วงต้นเพลง แล้วค่อยๆเปลี่ยนความถี่เป็น 10 Hz ในช่วงท้ายเพลง เป็นต้น

 

 

AAO คัดเลือกผลงานอย่างไร

ทาง AAO จะคัดเลือกจากทุกๆผลงานที่ไปนำเสนอ (ทั้ง oral และ presentation) และมีการคัดเลือกเป็นรอบๆ จากตัวแทนของกลุ่มย่อยต่างๆ (subspecialty), ไปเป็นตัวแทนของกลุ่ม, และคัดจากตัวแทนของกลุ่ม เพื่อไปเป็นตัวแทนข่าวประชาสัมพันธ์ของ AAO ประจำปีนั้น http://www.aao.org/newsroom/release/index_2012.cfm

ทำ press conference

หลังจากได้รับเลือกเป็น news highlight, จะมีทีมงาน PR มาคุยและทำความเข้าใจรายละเอียดกับเรื่องงานวิจัยของเราก่อน โดยสุดท้ายจะออกมาเป็นสื่อที่ผลิตโดย PR ของ AAO แล้วแจกไปให้สื่อทั่วโลกก่อนวันประชุม ถ้าสื่อไหนสนใจ จะสามารถมานัดสัมภาษณ์ หรือมาฟังการนำเสนอผลงานต่อไป

สื่อสนใจมากน้อยแค่ไหน

ทาง AAO ส่งรายงานกลับมาว่า ประมาณคนที่รับข่าวทั้งหมด 50ล้านคน (ทั้งจากสื่อพิมพ์ internet, website), จากรายการวิทยุ 1ล้านคน, โดยงานวิจัยนี้ได้รับเลือกให้เป็น 1 ในสามงานสำหรับนวัตกรรมประจำปี 2012 ของทางจักษุอีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสอันดีในการประชาสัมพันธ์จักษุแพทย์ไทย และยังได้มีโอกาสไปงานประชุมระดับโลก และยังได้นำเสนอผลงานวิจัยอีกด้วย

ทั้งนี้ต้องขอขอบพระคุณทางราชวิทยาลัยที่ได้เล็งเห็นความสำคัญและให้โอกาสจักษุแพทย์ใหม่ให้ได้รับโอกาสนี้ครับ ขอบคุณครับ