KOS Best Presentation Award

Updated 2024-01-10 16:13:00



KOS Best Presentation Award 


 

               ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ขอแสดงความชื่นชมและยินดีกับ แพทย์หญิงนันท์นภัส ชีวะเกรียงไกร แพทย์ประจำบ้าน ภาควิชาจักษุ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับรางวัล Best Presentation  Award จาก

The Korean Ophthalmological Society ในงานประชุม 130th Annual Meeting of the Korean Ophthalmological Society ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 พฤศจิกายน 2566 ณ กรุงโซล ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี

 

รางวัลดังกล่าวมาจากการนำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง Modifiable risk factors associated with idiopathic epiretinal membrane

ซึ่งมีผู้ร่วมวิจัย ได้แก่ อ.นพ. อดิศัย วราดิศัย1 ผศ. พญ. แพร์ พงศาเจริญนนท์ เฟอร์เร่ร่าห์1 อ.นพ. นันทชัย สุรวัติเสถียร1 และ

อ.ดร. ธนะภูมิ รัตนานุพงศ์2  ภาควิชาจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย1 และ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย2

 

สรุปผลงานวิจัยโดยย่อ

               ผลงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัย ได้แก่ การนอนหลับ (คุณภาพการนอนหลับและระดับความสูงของศีรษะเมื่อนอนหลับ) การใช้อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ กิจกรรมทางกาย การบริโภคผักและผลไม้ กับการเกิดโรคพังผืดบริเวณจอตา โดยได้ทำการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์แบบสอบถามทั้งหมด 5 ส่วน ระหว่างเดือนสิงหาคม 2565 – สิงหาคม 2566 ที่คลินิกผู้ป่วยนอก แผนกจักษุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

               จากการเก็บข้อมูลผู้เข้าร่วมงานวิจัยจำนวนทั้งสิ้น 198 ราย โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่เป็นโรคพังผืดบริเวณจอตาจำนวน 86 รายและกลุ่มที่ไม่ได้เป็นโรคพังผืดบริเวณจอตาจำนวน 112 ราย ผลจากงานวิจัยพบว่า กลุ่มโรคพังผืดบริเวณจอตามีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 68.36±8.78 ปี และ กลุ่มที่ไม่ได้เป็นโรคพังผืดบริเวณจอตามีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 63.87±10.67 ปี จากการวิเคราะห์ทางสถิติด้วยวิธี multiple logistic regression พบว่า จำนวนเงินเดือน และ และระยะเวลาจำนวนปีสะสมในการใช้อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคพังผืดบริเวณจอตาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่า Adjusted OR = 0.15, 95%CI: 0.05-0.39, p-value < 0.001 และ Adjusted OR = 3.47, 95%CI: 1.41-8.55, p-value = 0.007 ตามลำดับ

     โดยสรุปจากงานวิจัยนี้ การใช้อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ในระยะยาว มีความสัมพันธ์กับโรคพังผืดบริเวณจอตา จึงแนะนำให้ปรับการใช้อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ให้มีระยะเวลาที่เหมาะสม