RCOPT Research Strategy

Updated 2013-10-18 08:46:41


 


RCOPT Research Strategy




เริ่มต้นอย่างมั่นคง ก้าวไปอย่างมั่นใจ 
ถึงแม้จะท้าทาย เราจะเดินสู่จุดหมายไปพร้อมกัน

 
งานจะสำเร็จได้ต้องเริ่มจากการวางแผนที่ดี คณะกรรมการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยชุดใหม่ จึงได้ร่วมมือ ประสานใจ วางแผน เพื่อพัฒนาและยกระดับงานวิจัยของราชวิทยาลัยฯ โดยมีคาดหวังร่วมกันว่าในอนาคต 4 ปีข้างหน้า ราชวิทยาลัยฯของเราจะมีงานวิจัยทางจักษุวิทยาเป็นที่หนึ่งในภูมิภาคอาเซียน โดยวางแผนจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการทำวิจัยให้แก่สมาชิก ซึ่งจะส่งผลให้งานวิจัยทางจักษุวิทยามีคุณภาพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยที่ช่วยแก้ไขปัญหาจักษุสาธารณสุขของประเทศ
 
การจะเดินทางไปสู่ฝันอันยิ่งใหญ่นี้ได้ ต้องเริ่มจากก้าวแรกที่มั่นคง คือ ตั้งแต่การเริ่มเขียนโครงร่างงานวิจัย การเลือกใช้สถิติที่เหมาะสมในการวิเคราะห์ข้อมูล การมีข้อมูลของแหล่งทุนที่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้งานวิจัยดำเนินไปได้ การมีที่ปรึกษาที่ดีที่สามารถให้คำปรึกษาได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาขมของสมาชิกทั้งหลาย คือเรื่องเกี่ยวกับสถิติและระเบียบวิธีวิจัย รวมทั้งมีผู้ที่มีประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จในการทำวิจัยคอยให้คำแนะนำทั้งในเรื่องการเขียนนิพนธ์ต้นฉบับและการส่งผลงานเพื่อลงตีพิมพ์ในวารสารทางจักษุวิทยาต่างๆ และสิ่งดีๆที่จะยังคงดำเนินการต่อไปเฉกเช่นในการประชุมวิชาการฯที่ผ่านมา คือ การจัดกิจกรรมการประกวดผลงานวิจัยเพื่อกระตุ้นให้สมาชิกไม่ว่าจะเป็นจักษุแพทย์หรือแพทย์ประจำบ้านนำเสนอผลงานวิจัยที่มีคุณภาพดีเยี่ยมให้กับสมาชิกได้รับทราบ
 
จากการจัดกิจกรรมต่างๆข้างต้นก็จะส่งผลให้ก้าวแรกของการทำวิจัยคือ การเขียนโครงร่างงานวิจัยจนกระทั่งถึงการตีพิมพ์ก็ดูจะไม่เป็นเรื่องยากเกินกำลังของสมาชิกราชวิทยาลัยมากนัก และที่สำคัญหากเริ่มด้วยก้าวย่างที่ดีในก้าวแรก มีการคอยเติมกำลังกายและใจเป็นระยะๆ ผลท้ายสุดก็ส่งผลให้ได้งานวิจัยที่มีคุณภาพและชี้นำสังคมได้
 

 
อีกหนึ่งความท้าทายที่คณะกรรมการฯมีความเห็นร่วมกันว่า น่าจะเป็นโอกาสอันดี หากราชวิทยาลัยฯจะริเริ่มให้เกิดวารสารทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับในเวทีมาตรฐานสากล นั่นคือ เป็น Indexed journal ในนาม ASEAN Ophthalmology Journal หรือ AOJ ซึ่งน่าจะเป็นชื่อที่ดูเข้ากับยุคสมัยปัจจุบันที่ทุกหน่วยงานก็ต้องเตรียมตัวต่อการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ทางคณะกรรมการฯ ยังเล็งเห็นว่าน่าจะพัฒนาเครือข่ายงานวิจัยสหสถาบันในอาเซียน เพื่อเปิดความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการจัดทำโครงการวิจัยร่วมกัน ซึ่งทำให้เกิดความร่วมมือในทางด้านวิชาการแบบบูรณาการและผลงานวิจัยนั้นๆสามารถแก้ปัญหาทางจักษุสาธารณสุขของภูมิภาคนี้ได้อย่างต่อเนื่อง