ภัยจากคอนเทคเลนส์ตาโต

Updated 2006-06-29 00:00:00


ภัยจากคอนแทคเลนส์ตาโต

ศ.พ.ญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต

ระยะนี้มีข่าวจากสื่อต่างๆ ทั้งทีวีและหนังสือพิมพ์ฮือฮา ถึงการใส่ contact lens ทำให้ตาโตขึ้น คงเป็น
ที่สนใจของสาวๆ ตาตี่ๆ กันทั่วไป ก่อนจะไปใช้น่าจะมาเรียนรู้ถึงข้อควรปฏิบัติและโทษของมันดูบ้าง อย่ามุ่งมั่นเพื่อความสวยงาม โดยลืมนึกถึงความปลอดภัย
เลนส์สัมผัสหรือที่เรียกกันติดปากว่า contact lens เป็นแผ่นพลาสติคใสๆ บางๆ ได้รับการหล่อหรือขัดเกลาให้เป็นแผ่นกลมรูปกะทะ โดยมีความโค้งใกล้เคียงกับความโค้งของตาดำของเรา ตัวเลนส์มีกำลังหักเหของแสงคล้ายๆ เลนส์ที่ใช้ในแว่นตาขนาดต่างๆ เพื่อแก้ไขสายตาที่ผิดปกติ ได้แก่ ตาสั้น ตายาว และตาเอียง เมื่อนำเลนส์สัมผัสมาใช้ โดยปะวางที่ตาดำอาศัยน้ำตาที่ฉาบบางๆ อยู่ผิวตาดำเป็นตัวยึดให้เลนส์ติดกับตาดำ โดยที่เลนส์ขยับเคลื่อนที่ได้เล็กน้อยเมื่อเรากลอกตาไปมา
ปัจจุบันการใช้เลนส์สัมผัสมีจุดประสงค์ 3 ประการ
1. เพื่อแก้ไขสายตาที่ผิดปกติ ทดแทนแว่นสายตา กล่าวคือสามารถแก้ไข สายตาสั้น ตายาว ตาเอียง
ตลอดจนสายตาผู้สูงอายุ โดยไม่ต้องใช้แว่นตา เป็นจุดประสงค์หลักที่ใช้กันมากที่สุด
2. ใช้รักษาโรคกระจกตาบางชนิด เป็นการใช้ชั่วคราวเมื่อโรคกระจกตานั้นหายก็เลิกใช้
3. ใช้เพื่อความสวยงาม เพื่อเปลี่ยนสีดวงตา หรือเพื่อปิดฝ้าขาวบริเวณตาดำ ในปัจจุบันนำมาใช้ให้
ดวงตาดูโตขึ้นที่ฮือฮาเป็นข่าวอยู่นี้
Contact lens ที่ออกมาแต่เดิมเป็นเลนส์ใสไร้สี เพื่อจุดประสงค์ 2 ข้อแรก สำหรับ contact lens สี เพิ่งมีใช้
ในระยะสิบกว่าปีมานี้ เพื่อจุดประสงค์ในข้อ 3 และมีบ้างที่ contact lens สี ช่วยทั้งเปลี่ยนสีตาและแก้ไขสายตาที่ผิดปกติด้วย อาจแบ่ง contact lens สีออกเป็น 4 ชนิด
1. Visibility colored contact lens เป็นสีอ่อนๆ ออกสีฟ้าหรือเขียวอ่อน เป็นอันแรกๆ ของเลนส์สัมผัสสี
จุดประสงค์ให้ผู้ใช้มองเห็นได้ง่ายแต่เดิมผู้ใช้เลนส์สัมผัสไร้สีเมื่อถอดออกจากดวงตาแทบจะมองไม่เห็น อาจจะตกหล่นหรือหาย หรือแม้เมื่อถอดออกจากตาใส่ในตลับอาจวางเลนส์ที่ขอบตลับเมื่อปิดตลับ ทำให้เลนส์ฉีกขาดได้ ถ้าทำเป็นสีจางๆ จะช่วยให้ผู้ใช้มองเห็นเลนส์ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเลนส์สีชนิดนี้สีจางมากจึงไม่เปลี่ยนสีตาของผู้ใช้
2. Enhance colored contact lens เป็นเม็ดสีที่ย้อมเข้าไปในเนื้อ contact lens ที่เข้มกว่าและเม็ดสี
หนาแน่นกว่า จุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนสีตาของผู้ใช้ โดยเม็ดสีจะอยู่ในเนื้อ contact lens รอบๆ เว้นตรงกลางให้แสงเข้าเพื่อให้มองเห็นได้ดี
3. Opaque colored contact lens เป็นเม็ดสีที่เข้มขึ้นไปอีกอยู่ในเนื้อเลนส์ที่ลึกลงไป มีสีต่างๆ หลายสี
ใช้ในการเปลี่ยนสีตา ถือเป็นเครื่องประดับบริเวณตา มักใช้ในนักแสดงที่แต่งตัวสีฉูดฉาดและต้องการให้ดวงตามีสีแปลกๆ ด้วย นอกจากนี้อาจย้อมเม็ดสีให้กินบริเวณรอบนอกของเลนส์ ทำให้เมื่อใช้เลนส์นี้ดูตาดำใหญ่ขึ้นอันเป็นที่มาของเลนส์ช่วยให้ตาโต
4. Light – filtering contact lens เป็นพัฒนาการของ contact lens สีชนิดล่าสุดมักใช้ในกีฬา เป็นการ
ทำเลนส์เป็นสีเพื่อกรองแสงบางสีออกไป เพิ่มความชัดของวัสดุที่จะมอง เช่น เพื่อให้สีของลูกเทนนิสหรือลูกกอล์ฟเด่นชัดขึ้น ตัวอย่างนักกอล์ฟใช้สีอำพันเพื่อตัดสีครามของท้องฟ้าไกลๆ ทำให้เห็นลูกกอล์ฟชัดขึ้น
ถ้าท่านตัดสินใจที่จะลองใช้ CL สี ควรปรึกษาจักษุแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญดูก่อนว่าดวงตาของท่านเหมาะสมหรือสมควรใช้หรือไม่ CL มิได้เหมาะสำหรับดวงตาทุกคู่ ผู้ที่ไม่เหมาะที่จะใช้ได้แก่
1. ผู้ที่มีโรคผิวหนังบริเวณเปลือกตาแบบเรื้อรัง การที่เปลือกตาอักเสบทำให้ไม่สบายตา อีกทั้งมักมีสาร
ที่ขับจากต่อมบริเวณเปลือกตาเปลี่ยนไป
2. ผู้ที่ตาแห้ง
3. มีกระจกตาผิดปกติ
4. เป็นภูมิแพ้ เพราะผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ อาจจะเกิดการแพ้ต่อสารที่ทำเลนส์หรือแพ้น้ำยาที่ใช้กับเลนส์
5. มีโรคเรื้อรังทางร่างกาย เช่น เบาหวานที่ควบคุมไม่ดี โรคของต่อมไทรอยด์ที่มีตาโปน เพราะผู้ป่วย
ในกลุ่มนี้มักจะมีตาแห้งไม่ค่อยกระพริบตา
6. ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต มีความกังวล ขี้ระแวง
7. ผู้ป่วยที่มีโรคข้อมือ มีมือสั่นจากโรคทางสมอง เช่น โรค Parkinson ทำให้จับต้องเลนส์สัมผัสไม่ได้ดี
8. หญิงตั้งครรภ์และสตรีวัยทอง
9. ผู้ที่ใช้ยาประจำบางตัว เช่น ยารักษาโรคกระเพาะ ผู้รับประทานยาคุมกำเนิด ผู้ใช้ยากลุ่มคลาย
เครียดประจำ ฯลฯ
สำหรับ CL สีก็คงคล้าย CL ทั่วไปแต่เพิ่มเม็ดสี เพื่อจุดประสงค์ดังกล่าวคงตอบสนองความต้องการในแง่ความสวยงาม แต่มีข้อเสียมากกว่า CL ธรรมดาหลายประการอาทิ เช่น
1. ราคาแพงกว่า
2. ด้วยเหตุที่มีเม็ดสีเข้าไปอยู่ในเนื้อ CL บริเวณที่เป็นสี ออกซิเจนจะไม่ซึมผ่านเข้าไปเลี้ยงกระจกตา
อีกทั้งเม็ดสีเป็นสิ่งแปลกปลอม อาจทำให้เกิดโทษจากการแพ้เม็ดสีในคนบางคนได้
3. ด้วยเหตุที่มีเม็ดสีปนอยู่ในเนื้อเลนส์ ผิวอาจไม่เรียบเป็นเนื้อเดียวกัน เชื่อว่าอาจมีเมือก โปรตีนที่มีอยู่
ในน้ำตาเข้าไปฝังตัวทำให้เลนส์เสียเร็วขึ้น และเลนส์สีจะมีความหนากว่าเลนส์ปกติ ทำให้ออกซิเจนซึมผ่านจากอากาศ น้ำตาไปเลี้ยงกระจกตาน้อยลง
4. โดยเฉพาะรายที่เป็นสีเข้มๆ เพราะต้องการเปลี่ยนสีตาทำให้การดูแลรักษายากกว่าเลนส์ทั่วไป กล่าว
คือหากมีสิ่งสกปรก ปนเปื้อน เช่น มีกลุ่มเมือกปนเชื้อโรคติดอยู่ ซึ่งจะเห็นได้ง่ายในเลนส์ธรรมดา ทำให้ผู้ใช้สามารถเช็ดถูออก หรือถ้าไม่ออกก็เลิกใช้คู่นั้นเพื่อความปลอดภัย หากเป็น CL สี มองไม่เห็นใช้ต่อไปทำให้เกิดตาอักเสบในเวลาต่อมาได้
5. ในกระบวนการทำ CL สี ต้องเว้นบริเวณตรงกลางที่ตรงกับรูม่านตา เพื่อให้ผู้ใช้แลเห็นวัตถุ การเว้น
ขนาดตรงกลางอาจจะใหญ่ไปหรือเล็กไป สำหรับบางคนเนื่องจากเวลากระพริบตาหรือกลอกตาไปมามีการขยับ
ของ CL อาจทำให้บริเวณที่เป็นสีมาบังตาทำให้มัวลงได้ เนื่องจากการเว้นขนาดบริเวณตรงกลางทำเป็นขนาดแน่นอนทั้งหมด แต่ขนาดรูม่านตาและการขยับของ CL เวลากระพริบตาไม่เท่ากันทุกคน
เมื่อตัดสินใจจะใช้เลนส์สัมผัสคู่แรกควรได้รับการตรวจตาเสียก่อนว่าไม่มีข้อห้ามในการใช้และประกอบ
จากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น มิใช่ไปซื้อเอาตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อ และเมื่อได้เลนส์มาแล้วควรปฏิบัติตนดังนี้
1. ไม่ว่าจะเป็นเลนส์ชนิดใด ล้วนต้องนำมาแปะไว้หน้าตาดำ ถือเป็นสิ่งแปลกปลอมที่อาจก่อให้เกิด
ปฏิกิริยาหรือการอักเสบได้ ความสะอาดจึงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเลนส์สกปรกมีเชื้อโรคก็เท่ากับนำเชื้อโรคไปใส่ในตา ซึ่งในบางครั้งอาจไม่เกิดโทษร้ายแรง แต่สักวันหนึ่งถ้ากระจกตามีรอยถลอก เชื้อโรคก็จะเข้าไปในเนื้อกระจกตาทำให้กระจกตาอักเสบและเกิดโรคร้ายแรงตามมา
2. ใช้เลนส์ให้ทุกประเภท เลนส์ที่มีอายุ 2 สัปดาห์ก็ควรใช้แค่ 2 สัปดาห์ไม่ควรใช้เกินกว่านั้น แม้เลนส์ที่
ระบุว่าใส่นอนได้ก็ไม่ควรใส่นอน
3. แม้เลนส์รุ่นใหม่ๆ จะออกแบบให้ออกซิเจนซึมผ่านได้ดีตามที่มีโฆษณากันอยู่ ตาที่ใส่เลนส์สัมผัสอยู่
จะได้รับออกซิเจนน้อยลงเสมอ ถ้าใส่เลนส์ไม่นานเกินไปก็จะเป็นการขาดออกซิเจนของตาดำที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายมากนัก จึงควรมีเวลาให้ตาได้พักหรือปลอดการใส่เลนส์ ขอแนะนำว่าแม้ท่านจะเลือกแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยเลนส์สัมผัส ท่านก็ควรจะมีแว่นเป็นอะไหล่ไว้ใช้เวลาพักตาจากเลนส์สัมผัส
4. ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ประกอบเลนส์อย่างเคร่งครัด
5. การทำความสะอาดเลนส์ ต้องทำอย่างเคร่งครัดประกอบด้วยการทำความสะอาด ล้างฆ่าเชื้อและ
การเก็บ (cleaning, rinsing, disinfecting and storage) หลีกเลี่ยงการใช้น้ำเกลือซึ่งเทถ่ายจากขวดใหญ่ โดยคิดว่าจะประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากกระบวนการถ่ายเทน้ำเกลือ อาจทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนได้ น้ำยาที่แช่เลนส์ต้องเททิ้งทุกครั้ง
6. หากมีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บตา ตาแดง ตาพร่ามัว ควรจะถอดเลนส์ออกและปรึกษาจักษุแพทย์
7. พึงระลึกว่าการใช้เลนส์สัมผัสใช่ว่าจะปลอดภัย 100 % ขณะใส่เลนส์สัมผัสตาดำจะอยู่ในภาวะขาด
ออกซิเจนบ้าง อาจมีโรคแทรกซ้อนหากใช้ไปนานๆ ผู้ใช้จึงควรรับการตรวจจากจักษุแพทย์เป็นระยะแม้ไม่มีอาการผิดปกติ
8. ขอเตือนว่ามีผู้ใช้เลนส์สัมผัสไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดผลเสียหลายอย่าง เช่น เจ็บตา ตาแดง กระจก
ตาเป็นแผล ซึ่งนอกจากทรมานจากการเจ็บปวด เสียเงิน เสียเวลาในการรักษา บางรายเป็นรุนแรงถึงขั้นสูญเสียสายตาเล็กน้อยไปจนถึงมากอย่างถาวร