กาวตราช้างเข้าตาทำอย่างไรดี

Updated 2006-06-29 00:00:00


กาวตราช้างเข้าตา : - ทำอย่างไรดี
พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต

เมื่อ 2-3 เดือนก่อน มีข่าวในหนังสือพิมพ์เขียนถึงพระองค์หนึ่งหยอดกาวตราช้างเข้าตา โดยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นขี้ผึ้งป้ายตา ทำให้เกิดโกลาหลเพราะลืมตาไม่ขึ้นซ้ำหนักเข้าไปอีก เมื่อลูกศิษย์คิดว่าทินเนอร์จะช่วยชะล้างกาวออกได้ จึงพยายามเช็ดและล้างด้วยทินเนอร์ซึ่งแน่นอนไม่ได้ผล ต้องพาหลวงพ่อไปพบจักษุแพทย์รักษาอยู่หลายวันจนกลับมาปกติได้ในที่สุด
กาวหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า adhesive glue หรือ superglue เป็นสาร cyanoacrylate ที่มนุษย์เริ่มคิดค้นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และนำมาใช้กันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 โดยใช้กันมากในอุตสาหกรรมและการแพทย์ ในทางการแพทย์ที่ใช้กันบ่อยได้แก่ การเชื่อมโลหะเข้ากับกระดูกในผู้ป่วยโรคทางกระดูกที่จำเป็นต้องฝังโลหะเข้าไปในกระดูก จักษุแพทย์ใช้อุดรูทะลุของดวงตา เช่น ใช้อุดแผลกระจกตาที่เกิดรูทะลุ ใช้เชื่อมแผลให้ติดกันโดยไม่ต้องเย็บ เป็นต้น
กาวมีคุณสมบัติพิเศษตรงที่เกิดปฏิกริยา polymerize ได้อย่างรวดเร็วภายในวินาที ตามคำที่มักพูดกันว่า " “ แปะปุ๊บ ติดปั๊บ “ โดยเฉพาะกับวัสดุที่เป็นด่างนิดๆ เช่น ผิวหนังคนเราดังจะเห็นกาวสามารถทำให้นิ้วติดกันได้อย่างรวดเร็ว เพราะผิวหนังคนเราเป็นด่างเล็กน้อย ถ้าบังเอิญกาวเข้าไปอยู่ในทางเดินหายใจ หรือในดวงตาจะก่อให้เกิดระคายเคืองอย่างมากได้
ในกรณีที่ผิวหนังเกิดติดกันจากกาว ไม่ควรพยายามดึงหรือแยกผิวหนังอย่างแรงเพราะจะทำให้ชั้นผิวๆ ของผิวหนังถลอกหรือฉีกขาด ควรเช็ดด้วยน้ำอุ่นและใช้น้ำยา acetone ซึ่งเป็นสารที่สามารถละลายกาวนี้ได้
จักษุแพทย์หลายๆ ท่านต่างมีประสบการณ์พบผู้ป่วยที่มีปัญหา กาวตราช้างเข้าตาอยู่เนืองๆ ทั้งจากอุบัติเหตุกาวกระเด็นเข้าตาหรือจงใจใส่เข้าตาเพราะเข้าใจผิด ด้วยเหตุที่ลักษณะหลอดของกาวละม้ายคล้ายคลึงกับหลอดขี้ผึ้งป้ายตา จึงมีโอกาสที่คนทั่วไปจะเข้าใจผิดหยิบมาใส่ตา โดยเฉพาะผู้สูงอายุสายตาไม่ค่อยดีอยู่แล้ว จึงไม่ได้อ่านสลากยาก่อนใช้ยา ในกรณีนี้จะเป็นการใส่ยาในจำนวนค่อนข้างมาก กับอีกประเภทหนึ่งเป็นกาวที่ใช้ในการแต่งต่อเล็บในการเสริมสวยเล็บ กาวชนิดนี้จะบรรจุอยู่ในขวดซึ่งมีรูปลักษณ์และขนาดใกล้เคียงกับยาหยอดตามาก จึงมีผู้นำไปหยอดตาเพราะเข้าใจผิด นอกจากนี้ยังมีกาวที่นิยมใช้ตามบ้านใช้ปะหรือเชื่อมวัสดุต่างๆ หรือเป็นอุบัติเหตุในการทำงาน เช่น คุณพ่อบ้านใช้กาวปะวัสดุอะไรอยู่บังเอิญมีเศษกาวกระเด็นเข้าตาหรือคนงานที่ต้องใช้กาวในการเชื่อมวัสดุ ที่พบอยู่บ่อย ๆ ในกลุ่มช่างทำเฟอร์นิเจอร์อาจใช้กาวทาเศษไม้อัดเพื่อเชื่อมไม้อัดให้ติดกัน บางครั้งอาจใช้กาวมากเกินไปเมื่อประกบไม้อัดเข้าด้วยกันทำให้กาวที่มากเกินกระเด็นเข้าตาได้ ในกลุ่มหลังนี้มักจะเป็นกาวกระเด็นเข้าตาเป็นจำนวนน้อย
อุบัติเหตุจากกาวเข้าตาโดยจงใจหยอดเข้าตาจากการเข้าใจผิดใช่ว่าจะพบแต่ในบ้านเรา แม้ประเทศที่พัฒนาก็มีรายงานอยู่พอสมควร บางประเทศรายงานว่าผู้ป่วยมักจะสำคัญผิดใช้น้ำยาต่อเล็บ ซึ่งมีสาร cyanoacrylate อยู่ มาหยอดตาด้วยเหตุที่ขวดน้ำยาต่อเล็บมีลักษณะคล้ายกับยาหยอดตาประเภทน้ำตาเทียม หรือน้ำยาหล่อลื่นดวงตาซึ่งมักมีอยู่ประจำบ้านนำมาใช้ในเวลาที่อาการระคายเคืองในตา ส่วนใหญ่จะรายงานว่าแม้จะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองมาก บางรายทำให้กระจกตาดำถลอกเจ็บปวดอยู่หลายวัน แต่มักจะหายเป็นปกติได้ในที่สุด

ข้อปฏิบัติเมื่อกาวกระเด็นเข้าตา

- ถ้าบริเวณที่ถูกเป็นผิวหนังรอบๆ ตา โดยที่เปลือกตาไม่ติดกัน คือลืมตาได้ให้เช็ดหรือล้างบริเวณนั้นด้วย
น้ำอุ่น และล้างตาด้วยน้ำสะอาด หากมีอาการเคืองตามากปรึกษาจักษุแพทย์เนื่องจากอาจมีรอยถลอกของผิวตาดำ หรือมีเศษวัสดุค้างภายในตาหรือกระจกตาซึ่งแพทย์จะช่วยเอาออกและให้การรักษาต่อไป หากโดนเฉพาะผิวหนังซึ่งห่างไกลดวงตา อาจใช้น้ำยาจำพวกสาร acetone เป็นตัวละลายได้ หากเป็นบริเวณใกล้ดวงตาซึ่งการใช้สาร acetone อาจเข้าตาได้ไม่แนะนำให้ใช้ มีหลักกว้างๆ ว่าแม้สารตัวหนึ่งสามารถละลายอีกตัวหนึ่งได้ก็ห้ามใช้ในตา เพราะปฏิกิริยาการละลายอาจก่อให้เกิดความร้อนหรือสารอีกตัวซึ่งทำลายดวงตามากขึ้นไปอีก
- ถ้าหนังตาปิดทั้ง 2 ข้าง โดยหนังตาบนติดกับหนังตาล่างและขนตาติดกันไปหมดผู้ป่วยจะตกใจเพราะลืม
ตาไม่ได้เลย ให้ใช้น้ำอุ่นเช็ดเบาๆ แล้วปรึกษาแพทย์ อย่าพยายามดึงหนังตาแยกจากกัน เพราะอาจทำให้ผิวหนังตลอดจนขนตาฉีกขาดหรือหลุดลอกออก ก่อความเจ็บปวดเพิ่มขึ้น
- ในกรณีที่เศษกาวกระเด็นเข้าตาเล็กน้อย กาวอาจไม่โดนผิวหนังเลย แต่ไปถูกเยื่อบุตาขาวและกระจกตา
ทำให้กระจกตาอักเสบ มีอาการตาแดง ปวดตา ระคายเคืองภายในดวงตาควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดและปรึกษาจักษุแพทย์อีกที
เมื่อกาวเข้าตาอาจทำให้เปลือกตาบนและล่างติดกัน ลืมตาไม่ขึ้นก่อให้เกิดโกลาหล ผู้ป่วยจะตกใจคิดว่าตาจะบอดแล้วมั้ง โดยทั่วไปมักจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมากมายนัก และภายในดวงตาก็มักจะไม่ติดกันเพราะผิวหน้าดวงตาดำของคนเรามีน้ำตาฉาบอยู่บางๆ เป็นตัวกั้นมิให้กาวเข้าไปติดหรือเชื่อมส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันได้ แต่อาจมีเศษวัสดุชิ้นเล็กๆ เข้าไปฝังในกระจกตาก่อให้เกิดการอักเสบอยู่สักระยะหนึ่ง
แม้ว่าโดยส่วนใหญ่จะไม่ก่อให้เกิดผลเสียอย่างถาวรมากมายนัก แต่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด เสียเวลาทำงาน เสียทรัพย์ใช้จ่ายในการรักษา จึงควรหลีกเลี่ยงหรือป้องกันมิให้กาวเข้าตาจะดีกว่า โดยการ
1. อย่าเก็บเครื่องสุขภัณฑ์ไว้รวมกับเวชภัณฑ์ อย่าเก็บกาวไว้ใกล้ๆ ยาจำพวกยาหยอดตา ยาหยอด
จมูกหรือยาดม ควรติดสลากไว้ที่กาวให้เห็นชัดๆ ว่าไม่ใช่ยา หากสลากหน้าหลอดหลุดหายไปให้ทิ้งเสีย
2. ก่อนใช้ยาหยอดตาต้องตรวจดูสลากหน้าขวดให้ชัดๆ ว่า เป็นยาหยอดตาหรือไม่ ยาหมดอายุหรือยัง
3. ผู้ที่ทำงานเสี่ยงต่อการกระเด็นของกาว ควรสวมแว่นตาป้องกันไว้ หากเกิดอุบัติเหตุจะทำให้โอกาส
เข้าตาน้อยลง มาตรฐานการป้องกันความปลอดภัยระหว่างการทำงานควรยกมาพิจารณาและปฏิบัติเข้มงวดยิ่งขึ้น