จักษุแพทย์รับรางวัล วิจัยและนวัตกรรม ในงานประชุมวิชาการ ระดับชาติและนานาชาติ

Updated 2023-12-12 15:00:00



จักษุแพทย์รับรางวัล วิจัยและนวัตกรรม

ในงานประชุมวิชาการ ระดับชาติและนานาชาติ

ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ขอแสดงความชื่นชมและยินดีกับสมาชิกจักษุแพทย์ 5 ท่าน ที่ได้รับรางวัลด้านวิจัยและนวัตกรรม ในที่ประชุมวิชาการทั้งระดับชาติและนานาชาติ ดังนี้ (1) อาจารย์แพทย์หญิงพิมพ์ขวัญ จารุอำพรพรรณ (2) ศาสตราจารย์แพทย์หญิงละอองศรี อัชชนียะสกุล (3) อาจารย์แพทย์หญิงสุณี จันทร์แสงเพ็ชร์ (4) ศาสตราจารย์แพทย์หญิงภิญนิตา ตันธุวนิตย์ และ (5) ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงนิดา วงศ์ชัยสุวัฒน์



อาจารย์แพทย์หญิงพิมพ์ขวัญ จารุอำพรพรรณ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้รับรางวัล  Best Presentation “YASOPRS Rising Star Award” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ ASOPRS 2022 Spring Scientific Symposium ซึ่งจัดขึ้นที่เมือง West Virginia ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 12-15 พฤษภาคม 2565 ในหัวข้อการบรรยาย Options for one-stage reconstruction of a large upper eyelid margin defect

 

โดยได้นำเสนอเทคนิคการผ่าตัดเสริมสร้างเปลือกตาบนที่ขาดหายไปมากกว่า 50% ของเนื้อเยื่อขอบเปลือกตาทั้งหมด หลังจากตัดมะเร็งเปลือกตาออก โดยเป็นเทคนิคที่สามารถทำผ่าตัดเสร็จได้ในระยะเดียว (1 stage) ซึ่งแตกต่างจากการผ่าตัดส่วนใหญ่ที่นิยมทำเป็น 2 ระยะ (2 stages) โดยเทคนิคที่นำเสนอเป็นการผสมผสานการใช้ sandwich block ซึ่งก็คือการตัดขอบเปลือกตาของตาอีกข้างมาร่วมกับการโยก Tenzel flap มาจากด้านหางตา ร่วมกับการทำ periosteal flap ในบางเคส ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยมะเร็งเปลือกตาที่มีปัญหาเรื่องความเสี่ยงของการหยุดยาห้ามเลือดก่อนผ่าตัด หรือ ผู้ป่วยที่ต้องเดินทางไกลเพื่อมาผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น โดยได้นำเสนอผลลัพธ์ของการผ่าตัดในผู้ป่วยหลายรายที่ได้ทำการรักษาไป ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ถือเป็นทางเลือกใหม่ๆสำหรับจักษุแพทย์สาขาศัลยกรรมจักษุตกแต่งเสริมสร้างที่จะได้เพิ่มพูนเทคนิคการผ่าตัดให้ได้หลากหลายยิ่งขึ้น




ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงละอองศรี อัชชนียะสกุล ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ประเภทคลินิก ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ SICMPH 2022 “Transdisciplinary Approach for Innovative Health System” ซึ่งจัดขึ้นที่ อาคารศรีสวรินทิรา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระหว่างวันที่ 3-5 สิงหาคม 2565 จากผลงานวิจัยเรื่อง Intravitreal autologous mesenchymal stem cell transplantation: a non-randomized phase I clinical trial in patients with retinitis pigmentosa

 

คณะผู้วิจัยได้ศึกษาถึงความปลอดภัย ความเป็นไปได้ในการใช้เซลล์ต้นกำเนิด รวมถึงประสิทธิภาพในระยะสั้นของการฉีดเซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูก (Bone marrow-derived mesenchymal stem cells : BM-MSCs) เข้าทางวุ้นตาในผู้ป่วย Retinitis Pigmentosa ระยะท้าย มีอาสาสมัครเข้าร่วมจำนวน 14 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามจำนวนเซลล์ต้นกำเนิด กล่าวคือ กลุ่มเซลล์ต้นกำเนิด จำนวน 1 × 106 เซลล์ , กลุ่มเซลล์ต้นกำเนิด จำนวน 5 × 106 เซลล์ และกลุ่มเซลล์ต้นกำเนิด จำนวน 1 × 107 เซลล์ตามลำดับ ทั้งนี้การแบ่งกลุ่มดังกล่าวปราศจากการสุ่มกลุ่มอาสาสมัคร ผู้วิจัยได้เก็บบันทึกอาการที่แสดงถึงการอักเสบ และเหตุไม่พึงประสงค์ที่อาจจจะเกิดขึ้น รวมถึงได้ตรวจประเมินค่าสายตา ค่าลานสายตา ความหนาของจอตาที่จุดรับภาพ โดยมีการติดตามอาสาสมัครเป็นระยะเวลา 12 เดือน ผลการทดลองพบว่า ค่าสายตาของอาสาสมัครที่ได้รับการรักษาโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าสายตาตั้งต้น ทั้งนี้ค่าสายตาดังกล่าวจะกลับสู่ค่าสายตาตั้งต้นที่ 12 เดือน นอกจากนี้ยังพบว่าค่าลานสายตาและความหนาของจอตาที่จุดรับภาพจะมีค่าคงที่ตลอดระยะเวลา 12 เดือน อย่างไรก็ตามอาสาสมัครมีการรายงานอาการไม่พึงประสงค์ในระหว่างระยะเวลา 12 เดือน แต่อาการเหล่านั้นส่วนใหญ่สามารถหายได้เอง ไม่ได้จำเป็นต้องมีการรักษาใด ๆ เพิ่มเติม แต่อย่างไรก็ตามภายหลังการติดตามอาสาสมัคร จำนวน 12 ราย ในระยะยาวอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1.5 ถึง 7 ปี พบว่ามีอาสาสมัครจำนวน 1 ราย ที่มีรายงานพบเหตุไม่พึงประสงค์ที่ระยะเวลา 3 ปี และจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด ภายหลังค่าสายตาผู้ป่วยสามารถกลับคืนสู่ค่าตั้งต้นได้




อาจารย์แพทย์หญิงสุณี จันทร์แสงเพ็ชร์ และหน่วยต้อหิน ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัล Best Free Paper Award ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ 6th Asia-Pacific Glaucoma Congress (APGC) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 4-7 สิงหาคม 2022 จากผลงานวิจัยเรื่อง Incidence and Factors Associated With Brimonidine Allergy

 

คณะผู้วิจัยศึกษาการแพ้ยาหยอดตา brimonidine จากผู้ป่วย 2,850 รายที่ได้รับยา brimonidine ระหว่างปี 2019 ถึง 2020 พบอุบัติการณ์การแพ้ยาอยู่ที่ 5.5% ผลงานวิจัยได้นำเสนอลักษณะทางคลินิกของการแพ้ยา การดำเนินโรค แนวทางการรักษา รวมถึงปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อภาวะดังกล่าว การศึกษานี้เป็นการรายงานอุบัติการณ์การแพ้ยา brimonidine ครั้งแรกในประเทศไทย และเป็นการศึกษาที่รวบรวมข้อมูลจากผู้แพ้ยา brimonidine จำนวนมากที่สุดที่เคยมีการรายงานจากทั่วโลกในปัจจุบัน ซึ่งผลการศึกษานี้จะเป็นแนวทางสำหรับการประเมินความเสี่ยง การดูแลและติดตามผู้ป่วยที่ได้รับยาหยอดตา brimonidine ต่อไป




ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงภิญนิตา ตันธุวนิตย์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้รับรางวัลบริการภาครัฐ ระดับดีเด่น ประเภทนวัตกรรมการบริการ จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ โดยจัดพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึงมีรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธานในพิธี จากผลงานวิจัยเรื่อง การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์รักษาผิวกระจกตาบกพร่องโดยวิธี SLET

 

คณะผู้วิจัยได้ทำการผ่าตัดดวงตา ผู้ป่วยตั้งแต่ปี 2558 ถึงปี 2565 เป็นจำนวน 49 ตา โดยแบ่งเป็นวิธีการผ่าตัดด้วยวิธี Simple limbal epithelial transplantation (SLET) โดยใช้เนื้อเยื่อ limbus จากตาอีกข้างของผู้ป่วยเอง (autologous SLET) จำนวน 20 ตา และผ่าตัดโดยใช้เนื้อเยื่อ limbus จากตาของญาติ (allogenic SLET) จำนวน 29 ตา โดยมีผลสำเร็จระยะยาว (ติดตามอาการผู้ป่วยสูงสุด 7 ปี) โดยรวมคิดเป็น 73.5% แบ่งเป็นผลสำเร็จของการผ่าตัดด้วยวิธี autologous SLET 85.0% และวิธี allogenic SLET 65.5% ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ได้รับรองเป็นวิธีการรักษามาตรฐาน มีผลสำเร็จของการผ่าตัดที่ไม่ด้อยกว่าวิธีการผ่าตัดเดิม และได้ผลลัพธ์การรักษาที่ดีกว่าวิธีการเพาะเลี้ยงเซลล์ในบางโรค นอกจากนี้คณะผู้วิจัยได้มีผลงานตีพิมพ์ที่รายงานถึงผลสำเร็จของการผ่าตัดด้วยวิธี SLET ลงในวารสารนานาชาติที่เป็นที่ยอมรับเป็นลำดับต้น ๆ ทางจักษุวิทยา




ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนิดา วงศ์ชัยสุวัฒน์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้รับรางวัล R2R ดีเด่น ประจำปี 2564 ประเภทผลงานนวัตกรรม ในงานมหกรรมการจัดการความรู้จากบทเรียนโควิด 19 และโครงการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2565 “การพัฒนาระบบสุขภาพที่ยั่งยืน หลังวิกฤตการณ์โควิด 19 ซึ่งจัดขึ้นที่ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน 2565 จากผลงานวิจัยเรื่อง การศึกษาประสิทธิภาพและความแม่นยำของโปรแกรมคัดกรองเบาหวานจอตาอัตโนมัติในผู้ป่วยเบาหวาน โรงพยาบาลศิริราช

 

คณะผู้วิจัย ได้รวบรวมภาพถ่ายจอตาของผู้ป่วยเบาหวานโรงพยาบาลศิริราช และสร้างโปรแกรมวิเคราะห์ภาพถ่ายเบาหวานจอตาอัตโนมัติ พบว่ามีความไวและความจำเพาะของโปรแกรมสูงว่า 85% จึงได้ทำการเปรียบเทียบความแม่นยำการวินิจฉัย referable DR ของโปรแกรมกับการตรวจขยายม่านตาโดยจักษุแพทย์ พบว่าค่าความไวและความจำเพาะอยู่ที่ 0.86 and 0.92 สำหรับภาพถ่ายจากเครื่อง nidek และ 0.92 and 0.84 สำหรับภาพถ่ายจากเครื่อง eidon  ผู้วิจัยและคณะได้ขอลิขสิทธิ์โปรแกรมตรวจคัดกรองเบาหวานจอตาอัตโนมัติเป็นที่แรกของประเทศ และนำมาประยุกต์ใช้ในการบริการคัดกรองเบาหวานจอตาจริงที่โรงพยาบาลศิริราชจนถึงปัจจุบัน