รำลึกถึงอาจารย์คอนยาม่า

Updated 2017-08-01 10:04:00




ศาสตราจารย์ นายแพทย์ นิยม คอนยาม่า จบมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จบแพทยศาสตรบัณฑิตที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อปีพ.ศ. 2499 จบการฝึกอบรมด้านจักษุวิทยา และทำงานต่อเนื่องเป็นอาจารย์ด้านจักษุวิทยาที่มหาวิทยาลัย Juntendo กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้น ได้ศึกษาต่อทางด้านระบาดวิทยา และสาธารณสุขศาสตร์ ที่ John Hopkins University ประเทศสหรัฐอเมริกา
 
อาจารย์คอนยาม่า ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในการวางรากฐานให้กับจักษุสาธารณสุขในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงปีพ.ศ. 2511 โดยเริ่มต้นสร้างระบบบริการด้านจักษุวิทยาให้แก่ประชาชนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ และเป็นอาจารย์ในภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
 
อาจารย์คอนยาม่า เป็นผู้ริเริ่มให้เกิดโครงการป้องกันตาบอดของประเทศไทย เป็นผู้จุดประกายให้จักษุแพทย์ไทยได้รู้จัก และเห็นความสำคัญของการป้องกันตาบอดในภาพใหญ่ของประเทศ นอกเหนือจากที่เราได้มีการเรียนการสอนด้านจักษุวิทยาให้กับแพทย์ประจำบ้านในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่สามารถผลิตจักษุแพทย์เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยทางจักษุเป็นรายๆ 
 
อาจารย์เป็นผู้ก่อตั้งหลักสูตรการเรียนการสอนด้านจักษุสาธารณสุขที่โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราาชสีมา ซึ่งมีบุคลากรทางจักษุวิทยาในประเทศไทย และประเทศอื่นในภูมิภาค เข้าร่วมอบรม และกลับไปสร้างระบบจักษุสาธารณสุขในประเทศของตน อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายของบุคลากรทางจักษุวิทยาในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ อาจารย์ยังเป็นที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลก และมีบทบาทในโครงการป้องกันตาบอดในระดับนานาชาติอีกหลายโครงการ ยังไม่นับรวมถึงรางวัลระดับนานาชาติอีกจำนวนมาก ที่อาจารย์ได้รับ
 
คุณประโยชน์ที่อาจารย์คอนยาม่าได้มีให้กับจักษุแพทย์ไทย และวงการสาธารณสุขไทย มีมากมายเหลือคณานับ จนเกินกว่าที่บุคคลหนึ่งบุคคลใด จะสามารถเขียนถึงผลงานและเกียรติประวัติของอาจารย์ได้ครบถ้วน ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย จึงขออนุญาตเผยแพร่บทความที่บุคคลจำนวนมากเขียนถึงอาจารย์ ตีพิมพ์อยู่ในวารสารจักษุสาธารณสุข ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม-มิถุนายน 2543 ซึ่งอาจารย์วัฒนีย์ เย็นจิตร ลูกศิษย์คนหนึ่งของอาจารย์ ได้ส่งมาให้ราชวิทยาลัยฯหลังจากที่อาจารย์คอนยาม่า ได้เสียชีวิตลงไม่กี่ชั่วโมง
 
จักษุแพทย์ไทยตระหนักดีถึงสิ่งที่อาจารย์ได้วางรากฐานไว้ หากเราจะมีโอกาสได้กล่าวกับอาจารย์เป็นครั้งสุดท้าย อาจารย์คงจะมีความสุขไม่น้อยที่จะได้ยินว่า พวกเราจะก้าวเดินตามรอยเท้าของอาจารย์