ถึงหลักสี่แล้ว! มองไกลก็ไม่ดี มองใกล้ก็ไม่ชัด จะใส่แว่นอะไรดีนะ ? โดย พญ.เตือนใจ วงศ์วรเศรษฐ์

Updated 2017-01-07 15:49:00 by นพ. รัฐ อิทธิพานิชพงศ์


ถึงหลักสี่แล้ว! มองไกลก็ไม่ดี มองใกล้ก็ไม่ชัด จะใส่แว่นอะไรดีนะ ???

"เลนส์หลายชั้นไร้รอยต่อ" (Progressive Addition Lenses, PAL)

โดย พญ.เตือนใจ วงศ์วรเศรษฐ์


บางครั้งนิยมเรียกว่า multifocal Lenses หรือ progressive lenses ในที่นี้ขอเรียกว่า ‘PAL’

PAL ใช้สำหรับผู้ที่มีสายตาสูงวัย (Presbyopia) ซึ่งบ้านเรามักเรียกว่าสายตายาว จึงทำให้สับสนกับสายตายาว (long-sightedness) ที่พบในเด็กบางคน สำหรับสายตายาวนี้ถ้าสายตายาวไม่มากจนเกินไปก็มักจะสามารถเพ่งจนเห็นได้ชัดเจนทั้งไกลและใกล้ ส่วนสายตาสูงวัยเป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่เกิดขึ้น เมื่ออายุประมาณ 40 ปี ทำให้คนที่เดิมมีสายตาปกติกลับมองในระยะใกล้ยากขึ้น เหมือนกล้องถ่ายภาพที่ปรับภาพไม่ชัดนั่นเอง อาการที่บ่งบอกว่ามีสายตาสูงวัยได้แก่ อ่านหนังสือในระยะปกติไม่ชัดต้องถือไกลจนเกือบสุดมือ อ่านยากเมื่อมีแสงน้อย ไม่สามารถอ่านเมนูอาหารในภัตตาคารและอาจมีอาการเมื่อยล้าตา ปวดศีรษะเมื่ออ่านหนังสือหรือใช้สมาร์ทโฟนไปสัก ระยะหนึ่ง 

เมื่อมีอาการของสายตาสูงวัยแล้วเราก็ต้องมีตัวช่วย มีเลนส์หลายชนิดที่ช่วยให้เราอ่านหนังสือหรือทำงานใกล้ได้ ดีขึ้น เช่น

1. เลนส์ชั้นเดียว (Single Reading Lenses) เห็นเฉพาะในระยะอ่านใกล้ มองไกลไม่ชัด 
เหมาะกับคนที่มองไกลได้ แต่มองใกล้ไม่ชัดระยะเดียว และกิจกรรมประจำวันไม่ต้องมองหลายระยะทั้งไกลทั้งใกล้พร้อมกันมาก เช่นประชุมที่มองกระดาน แล้วก้มมองกระดาษไปๆมาๆด้วยอาจจะไม่สะดวกนัก
หยิบมาใส่เวลามองใกล้ แต่พอจะมองไกลก็ต้องถอดแว่นออก 

2. เลนส์สองชั้น (Bifocal Lenses) เป็นเลนส์ที่เราเห็นรุ่นปู่ ย่า ตา ยายใช้มานานแล้ว ลักษณะคือส่วนบนของเลนส์ไว้มองไกล ส่วนล่างไว้อ่านหนังสือหรือทำงานใกล้ แต่เลนส์แบบนี้ขาดระยะกลางซึ่งเป็นระยะที่เราใช้ดูคอมพิวเตอร์ ระยะที่มองหน้าปัดรถขณะขับรถ การที่มีรอยต่อระหว่างส่วนบนและส่วนล่างทำให้ดูไม่สวยงามและเมื่อ เลื่อนสายตาจากไกลมาใกล้จะรู้สึกถึงภาพกระโดด (jumping of images)

3. PAL คือเลนส์ที่ออกแบบให้มองชัดทุกระยะตั้งแต่ไกลจนถึงระยะอ่านหนังสือหรือทำงานใกล้ โดยส่วนบน เป็นส่วนแก้ไขสายตามองไกลหากมีสายตาผิดปกติไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น ยาวหรือเอียง แล้วค่อยๆเพิ่มกำลัง (ค่า addition) ลงมาเรื่อยๆ มากที่สุดที่ส่วนล่าง เพื่อการอ่านหนังสือหรือทำงานใกล้ให้ชัดที่สุด ส่วนระยะทาง ที่จากบนถึงล่าง (corridor) จะสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับดีไซน์ของเลนส์แต่ละชนิดโดยค่า addition อยู่ในช่วงตั้งแต่ 0.75 ถึง 3.50 ไดออพเตอร์ (diopters) หรือที่เรียกกันง่ายๆว่าตั้งแต่ 75 ถึง 350 ยิ่งสูงอายุค่า addition ยิ่งมากขึ้น

PAL มีการเปลี่ยนแปลงกำลังเลนส์ที่ซับซ้อนกว่าเลนส์สองชั้น เพื่อช่วยให้ผู้สูงวัยสามารถมองเห็นชัดเจนในทุก ระยะในเสี้ยววินาทีอย่างเป็นธรรมชาติที่สุดเหมือนเมื่อครั้งยังหนุ่มสาว แบ่งง่ายๆเป็นสามส่วนดังรูป

เลนส์ส่วนบนไว้มองไกล ส่วนล่างไว้มองใกล้ ส่วนที่อยู่ระหว่างบนและล่างคือส่วนกลางที่ใช้ดูระยะสุดแขน ดู คอมพิวเตอร์ ดูหน้าปัดรถ ส่วนกลางนี้แคบกว่าส่วนอื่นและมีส่วนที่เห็นภาพบิดเบี้ยวอยู่ด้านข้างดังรูปด้านบน (unwanted cylinder) จึงมีการพัฒนา PALให้ดียิ่งขึ้นเพื่อให้ส่วนที่ภาพบิดเบี้ยวนี้น้อยที่สุด เราเริ่มมี PALใช้มามากกว่า 100 ปีแล้ว แต่การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเริ่มมาเมื่อประมาณปีค.ศ. 2000

PALมีหลายชนิด ราคาต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะ รุ่นและยี่ห้อ สามารถแบ่งPALเป็นสี่ชนิดดังนี้
1. Standard PAL เป็นเลนส์ที่มาทดแทนเลนส์สองชั้น ใช้งานได้ดีพอสมควรและราคาย่อมเยา การเลือกกรอบ มีความสำคัญมาก ขนาดของกรอบต้องมีพื้นที่สำหรับส่วนที่จะค่อยๆเปลี่ยนสายตาจากไกลลงมาใกล้ เพื่อ ให้มีส่วนอ่านที่กว้างพอ รุ่นนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีสายตามองไกลที่ผิดปกติไม่มากและสายตาสูงวัยก็ยังน้อย
2. Advanced PAL มีดีไซน์ที่ดีขึ้น ทำให้ใช้ได้ทั้งกับแว่นตากรอบใหญ่และกรอบเล็ก แต่ถ้าหากใช้กรอบเล็ก การปรับตัวจะยากขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้ PAL เป็นครั้งแรกเพราะระยะจากบนลงล่างแคบดังนั้นจะเกิดภาพบิดเบี้ยวด้านข้างมาก
3. Premium PAL ด้วยเทคโนโลยีที่คิดค้นมากขึ้น ทำให้การออกแบบและการขัดเลนส์มีความแม่นยำเนื่องจาก กระบวนการขัดถูกควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีการนำการวัดค่าต่างๆมาคำนวณเป็นค่าเฉพาะของแต่ ละบุคคล (Customized Lenses) เช่น การเคลื่อนไหวของลูกตา ระยะห่างระหว่างลูกตาทั้งสองข้าง ระยะห่าง ระหว่างลูกตากับกรอบแว่นตา และลักษณะของกรอบแว่นตา เป็นต้น ทำให้มุมมองกว้างขึ้นทุกระยะ ความ บิดเบี้ยวด้านข้างน้อยลงมาก มี PAL บางรุ่นสามารถเลือกโซนได้ว่าอยากได้ส่วนไหนกว้างเป็นพิเศษ เช่น เน้นให้ส่วนอ่านกว้างสำหรับผู้ที่ชอบอ่าน หรือเน้นส่วนไกลกว้างมากๆเพื่อเล่นกีฬา นอกจากนั้นยังสามารถเลือก กรอบได้แทบทุกขนาด ผู้สวมใส่ใช้เวลาปรับตัวน้อยลง อีกทั้งยังพัฒนาเรื่องการเคลือบเลนส์กันแสง สะท้อน กันรังสียูวี (UV) ตัดแสงสีฟ้าบางส่วน เปลี่ยนสีเมื่อโดนแสงแดด กันรอยขีดข่วน และกันรอยนิ้วมือ ดังนั้นราคาของ Premium PAL จึงแพงกว่าเลนส์อื่นๆ เพราะราคาของ PAL จะสูงขึ้นตามเทคโนโลยีและการ ค้นคว้าทดลองก่อนที่จะได้เลนส์นั้นๆจะออกสู่ตลาด
4. Computer PAL หรือ Office Lenses ออกแบบเพื่อใช้ในออฟฟิศให้ผู้สวมใส่เห็นชัดตั้งแต่ประมาณ 16 นิ้วถึง 16 ฟุต (40 เซนติเมตรถึง 480 เซนติเมตร) เหมาะกับผู้ที่ต้องการเห็นชัดในระยะกลางและระยะใกล้ เช่น ทำงานคอมพิวเตอร์ ทันตแพทย์ นักบัญชี และช่างผม เป็นต้น ถ้าผู้ใดใช้คอมพิวเตอร์มากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน เลนส์ชนิดนี้จะเหมาะมาก เพราะจะช่วยทำให้ตาไม่เมื่อยล้า ศรีษะอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องไม่ต้องเงยหรือก้ม หน้าดูคอมพิวเตอร์มากเกินไป

PAL มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนี้
* ข้อดี
1. เห็นได้ชัดทุกระยะ โดยใช้ตากวาดมองหรือปรับหน้าเพียงเล็กน้อย 
2. ไม่มีรอยต่อบนเลนส์ ทำให้ดูสวยงาม ดูอ่อนเยาว์กว่าเลนส์สองชั้น และไม่ต้องมองลอดแว่นเหมือนเมื่อใช้ เลนส์อ่านชั้นเดียว ซึ่งทำให้เสียบุคลิก 
3. ไม่มีภาพกระโดด (Image Jump)
4. สะดวกในการทำงาน เพราะไม่ต้องถอดเปลี่ยนแว่นหลายอันไปมา
* ข้อเสีย
1. ราคาสูงกว่าเลนส์ชนิดอื่น
2. ภาพบิดเบือนด้านข้างเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของPAL
3. ถึงแม้การวัดจะถูกต้องแม่นยำแล้ว แต่ก็มีบางรายที่อาจปรับตัวช้าหรือปรับตัวไม่ได้ 

ปัจจุบันคนเราสามารถใส่ PALได้ถึง 90 - 98% โดยจะประสบความสำเร็จมากถ้าเริ่มใส่ตั้งแต่อายุน้อยคือประมาณอายุ 40-45 ปีเพราะค่า Addition ยังน้อยและภาพบิดเบือนด้านข้างก็น้อยด้วย ในการเลือกชนิดของเลนส์ ความบางของเลนส์และดีไซน์ของ PAL ต้องอาศัยการซักประวัติ ประวัติสายตา การใช้ชีวิต (Life Style) และชนิดของงานที่ทำ คนที่มีสายตาผิดปกติมาก เช่น สายตาสั้นมาก ยาวมาก เอียงมากหรือเริ่มใส่ตอนอายุมาก ก็จะยิ่งปรับตัวยากกว่า

โดยสรุปการประกอบแว่นตาPALให้ประสบความสำเร็จในการสวมใส่และปรับตัวได้ มีองค์ประกอบมากมาย ดังเช่น
1. การวัดสายตาที่แม่นยำโดยผู้เชี่ยวชาญ
2. การเลือกกรอบแว่นตาที่เหมาะสม ต้องไม่ใหญ่ ไม่เล็กและไม่โค้งจนเกินไป
3. การเลือกชนิด PAL ต้องดูจากการใช้งาน การใช้ชีวิตประจำวัน และความผิดปกติของสายตา
4. การซักประวัติและการวัดรายละเอียดให้ถูกต้องแม่นยำของค่าเฉพาะบุคคล เช่น การมอง ลักษณะลูกตาและ กรอบแว่นตา เป็นต้น
5. การประกอบและส่งมอบแว่น PAL ช่างต้องปรับดัดหน้าแว่นให้สวมใส่สบาย สอนการปรับตัวและการใช้งาน เพื่อให้เห็นชัดทุกระยะและการดูแลรักษาเลนส์

การปรับตัวมีได้ตั้งแต่ในชั่วโมงแรกจนถึงสองสัปดาห์ อาการข้างเคียงมีปวดศีรษะ มึนศรีษะหรือคลื่นไส้ใน ช่วงแรกซึ่งอาจต้องถอดพักเป็นระยะเมื่อมีอาการและใส่เมื่ออาการหาย แต่หากปรับตัวได้แล้วเราจะเห็นชัดทุกระยะใน เสี้ยววินาที เห็นภาพชัดเหมือนใส่แว่นชั้นเดียวและสะดวกในการทำงาน