เรื่องของคุณ..คุณทำเอง "ชีวิตสัมพัทธ์" ตอนที่ 4

Updated 2014-07-01 00:34:00


 
 
ตอน....... ปรับเปลี่ยนเป้าหมายการทํางานตามสถานการณ์
 
 

            เมื่อปลายปีที่แล้ว ลูกมาถามความเห็นว่า ทางโรงพยาบาลได้ทำเรื่องบรรจุกลับเข้ารับราชการให้ จะเป็นข้าราชการดีหรือไม่ ความจริงลูกผมได้รับราชการมาแล้วแปดปีในตำแหน่งนายแพทย์ระดับหก ก่อนจะลาออกจากราชการไปเป็น Fellowship ที่มหาวิทยาลัยแพทย์ในสหรัฐอเมริกาอีกสองปี แล้วกลับมาเป็นลูกจ้างโรงพยาบาลรัฐอีกเกือบสามปี การได้รับบรรจุหรือไม่ ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญอะไร เพราะเธอมีอิสระที่จะรับงานทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนอยู่แล้ว การได้รับบรรจุเป็นข้าราชการอาจทำให้ความเป็นอิสระลดลงด้วยซ้ำไป ผมมีความเห็นในเรื่องนี้ว่า การบรรจุเข้ารับราชการโดยมีสิทธินับอายุราชการต่อนั้นเป็นการดี แม้จะไม่มีผลทั้งสถานะทางการเงินและตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ เพราะอย่างไร เธอก็ไม่มีทางไต่เต้าเป็นข้าราชการระดับสูงได้ และโดยสาขาวิชาชีพ เธอก็มีขีดความสามารถหารายได้พิเศษได้อยู่แล้ว เธอมีความประสงค์ทำงานในโรงพยาบาลของรัฐก็เพื่อโอกาสทำประโยชน์ช่วยเหลือคนไข้ เพราะผมมักเล่าให้เธอฟังถึงประวัติความเป็นมาของตระกูลว่า ในสมัยของคุณปู่ เราต้องคอยรับความช่วยเหลือจากคนอื่น ในสมัยพ่อ พ่อสามารถช่วยตัวเองได้จนมีหลักฐานพอสมควรแล้ว ในสมัยของลูก ลูกต้องให้ความช่วยเหลือคนอื่น เธอจึงปฏิเสธการไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนอย่างเต็มตัว

 

 

            การที่คนมีคุณวุฒิการศึกษาสูงเป็นที่ต้องการของภาคเอกชนยังต้องคอยเวลาหลายปีกว่าจะได้ตำแหน่งงาน แสดงว่าสถานการณ์ปัจจุบันมีการแข่งขันด้านคุณภาพของคนในทุกวงการสูงมาก ซึ่งต่างจากยุคสมัยผมในทศวรรษ 2510 นักเรียนนอกอย่างผมได้รับการบรรจุเข้ารับราชการแบบไม่ต้องสอบแข่งขันกับใคร โอกาสก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่มีสูงมาก แต่ชีวิตนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ผมคำนวณเห็นอนาคตตัวเองว่าจะสามารถก้าวถึงตำแหน่งสูงสุดของหน่วยงานได้ก่อนเกษียณ แต่ด้วยวัยเพียงสามสิบหกปี ก็มีเหตุทำให้ต้องลาออกจากราชการ ทำให้ผมต้องเปลี่ยนเป้าหมายทำงานใหม่ว่า ผมต้องการเรียนรู้งานให้กว้างขวางและหารายได้ให้มากขึ้นแทนเป้าหมายเดิม เพราะในบั้นปลายของชีวิต เกียรติยศตำแหน่งไม่สำคัญเท่าความมั่นคงทางการเงิน ในบทความนี้ ผมได้ให้ข้อแนะนำแก่ลูกว่า ให้ทำงานด้วยความสบายใจ โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการคือ

 

1.         Functional Satisfaction ให้มีความพอใจในหน้าที่การงานที่ทำ

 

2.         Emotional Satisfaction ให้มีอารมณ์เป็นสุขกับงานที่ทำ ให้มีอิสระที่จะทำงานอย่างมีคุณธรรมและความซื่อสัตย์

 

3.         Social Satisfaction ให้มีความพอใจกับสังคมและสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน มีเพื่อนร่วมงานที่ดี มีบรรยากาศทำงานดี และการได้รับการยอมรับในผลงานที่ได้ทำ

 
 ส่วนเรื่องเกียรติยศ ชื่อเสียงและรายได้นั้นเป็นเป้าหมายรอง อย่าได้คาดหวังว่าจะได้มากหรือไม่ เพราะในชีวิตจริง มีทั้งเรื่องที่เราสามารถควบคุมได้ และเรื่องที่เราไม่สามารถควบคุมได้ หน้าที่ของเรา คือทำเรื่องที่เราสามารถควบคุมได้ให้ดีที่สุด ส่วนเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้นั้น มีเหตุปัจจัยมากมายที่จะทำให้ผลที่ออกมาต่างจากที่เราคาดหวังได้ ก็ให้ทำใจไว้
 

คุณลักษณะของผู้ที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้

 

                        การที่ใครจะสามารถทำอะไรสำเร็จบรรลุเป้าหมายได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบของเหตุปัจจัยต่างๆที่ถึงพร้อมในสถานการณ์นั้นๆ ในตำราว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล หรือในหนังสือว่าด้วยวิธีการสู่ความสำเร็จในการงานที่ได้วางจำหน่ายมากมายมาหลายสิบปีแล้วนั้น ได้กล่าวถึงวิธีการมากมาย ในความเห็นของผม การที่ใครจะประสบความสำเร็จได้นั้น อยู่ที่การได้ทำตามลำดับขั้นตอนที่ถูกต้อง ต่อให้ได้อ่าน ได้ฟัง ได้เห็นมากแค่ไหนก็ตาม หากไม่ได้ลงมือปฏิบัติและมีประสบการณ์โดยตรง ความเชี่ยวชาญและปัญญาย่อมไม่เกิด และไม่มีวันที่จะรู้จริงที่จะนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้ นี่คือเหตุผลว่า ตำราว่าด้วยหนทางสู่ความสำเร็จนั้นมีมากมาย แต่ทำไมคนที่ประสบความสำเร็จจึงมีน้อยนิดเหลือเกิน

 

คุณลักษณะของผู้จะประสบความสำเร็จ

 

1         ต้องทำได้ มีความรู้ความสามารถทางวิชาการจากสถาบันการศึกษา หรือได้รับการฝึกจากผู้ปฏิบัติโดยตรง มีประสบการณ์และทักษะในสาขาวิชาชีพนั้นๆ มีการพัฒนาเรียนรู้สร้างขีดความสามารถอย่างต่อเนื่อง

 

2.        ต้องทำเป็น มีความสามารถในการประยุกต์ความรู้สู่การปฏิบัติ มีกรอบและแผนการทำงาน มีทัศนคติ แนวคิดและพฤติกรรมการทำงานที่ดี มีการพัฒนาวิธีการทำงานด้วยการลดต้นทุน การประหยัดทรัพยากรและเวลา และที่สำคัญคือ สามารถสนองความต้องการของลูกค้าเกินความคาดหมาย

 

3         มีความพร้อมจะทำ  ต้องมีความสามารถในการจัดการและบริหารเวลา มีความพร้อมที่จะทำงานตามเวลาที่นายจ้างหรือลูกค้าต้องการ การที่ใครจะพร้อมทำงานได้ในทุกโอกาสได้นั้น คนนั้นต้องมีความพร้อมทั้งทางด้านสภาพร่างกายและจิตใจ และได้รับความสนับสนุนจากครอบครัวในเรื่องต่างๆด้วย

 

4         ได้รับโอกาสและความเชื่อถือให้ทำงานนั้นๆ ต้องเป็นผู้มีประวัติความรับผิดชอบและผลงานที่เคยทำมาดีเป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจ มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น มีศีลธรรมและจริยธรรมในวิชาชีพ และมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี      

 

การสร้างโอกาสความก้าวหน้า

 

            ใครก็ตามที่หวังสร้างความก้าวหน้าให้ตนเอง เขาต้องรู้วัฒนธรรมขององค์กรที่เขาอยู่อย่างลึกซึ้ง ตัวอย่างเช่น ธนาคารกสิกรไทยมีทัศนคติทำงานเป็นทีม ที่ประกอบด้วย ความสามารถ (can do) มีใจ (will do) มีศักยภาพ ( potential) และเข้าได้กับองค์กร (will fit)  บริษัท CP. ระบุถึงคน 5 จำพวกที่จะสร้างความยิ่งใหญ่ไม่ได้ คือ คนที่ไม่มีความรับผิดชอบ คนไม่เสียสละ คนไม่พยายาม คนไม่ใจกว้างและคนไม่ซื่อสัตย์ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย มีอุดมการณ์ 4 ข้อ คือ ตั้งมั่นในความเป็นธรรม มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ เชื่อมั่นในคุณค่าความเป็นคน และถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม สตีฟ จ๊อบส์ กล่าวกับพนักงานว่า พวกคุณต้องค้นหาว่า คุณรักอะไร ทางเดียวที่จะทำให้เรามีความพอใจสูงสุดก็คือ การได้ทำในสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ มีความหมาย และการที่จะทำงานที่ยิ่งใหญ่ได้สำเร็จ ก็คือ การรักในสิ่งที่ทำ จงมีความกล้าหาญที่จะก้าวเดินตามสิ่งที่หัวใจเรียกร้อง ขอจงศึกษาและตอบสนองวัฒนธรรมและเป้าหมายขององค์กรที่คุณอยู่ และเสริมด้วยการปฏิบัติตามวิธีการข้างท้ายนี้ ก็จะเป็นประโยชน์แก่ตัวคุณเอง

 

1·          อยู่ใกล้คนเก่ง พยายามเรียนรู้จากคนเก่งทั้งวิธีการคิดและการปฏิบัติ

 

2·          ศึกษาจากหนังสือและสื่อต่างๆ ว่าวิทยาการใหม่ๆของโลกไปถึงไหนแล้ว

 

3          ติดต่อคบหากับนักวิชาการ นักวิจัยในมหาวิทยาลัย ว่าเขามีการค้นคว้าวิจัยเรื่องใหม่ๆอะไรบ้าง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์กับงานที่รับผิดชอบอยู่ได้อย่างไร

 

4·          ท่องโลกกว้าง ด้วยการดูงานและเข้าประชุมทางวิชาการเป็นระยะๆ

 

5·          อาสาสอนงานและถ่ายทอดความรู้ให้คนในหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษา เพื่อจะได้รู้ว่า คนรุ่นใหม่ๆมีความคิดเห็นอย่างไรในเรื่องที่สอน เพื่อนำมาอุดจุดด้อย

 

6          ทำงานให้มากๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อให้ความคิดใหม่แล่นเข้ามา เป็นนวัตกรรม

 
            ก่อนจะไปพบคนที่ฉลาดกว่า หรือผู้มีตำแหน่งเหนือกว่า ทำการบ้านมากๆและเตรียมคำถามให้พร้อม เพื่อที่จะรู้เขาให้มากๆ
 

รากฐานแห่งความสำเร็จและเหตุแห่งความล้มเหลว

 

                        ไม่ว่าตำรับตำราการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลจากตะวันตกเป็นบรรยายรายละเอียดซับซ้อนอย่างไร ผมขอกล่าวถึงปรัชญาทางตะวันออกที่เราคุ้นเคยที่บรรพบุรุษเราได้ยึดถือและปฏิบัติมาหลายพันปีแล้ว หลักแห่งความสำเร็จนั้น ประกอบด้วย ความขยัน ยืนหยัดและอดทน ทำตนให้เป็นที่เชื่อถือ อ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักประมาณตน รู้ผิดรู้ชอบ มีอุดมการณ์ มีน้ำใจการุญธรรม เข้าใจจิตใจผู้อื่น ประหยัดรู้สันโดษ เด็ดเดี่ยวมั่นคง ใจกว้างและไม่โลภ กล้าได้กล้าเสียเมื่อได้ใช้ดุลยพินิจและวิจารณญาณแล้ว กล้าตัดสินใจและมีความรับผิดชอบ ใครที่เข้าใจและนำไปใช้เป็น ก็สามารถประสบความสำเร็จได้

 

            สำหรับเหตุแห่งความล้มเหลวนั้นมักอยู่ตรงข้ามกับหลักแห่งความสำเร็จ เช่น โลภโมโทสัน เย่อหยิ่งยโส โป้ปดมดเท็จ คบค้าคนเสเพล เกียจคร้านต่องาน ก่อหนี้ล้นพ้น หูเบาเฉาปัญญา ไร้สัจจะ คิดคดล่อลวง ใจคอคับแคบ จิตใจโลเล ไม่มีอุดมการณ์ อิจฉาริษยา ไม่ประมาณตน ไม่เข้าใจผู้อื่น ฯลฯ  ใครที่สามารถหลีกเลี่ยงจากเหตุข้างต้นนี้ ย่อมไม่มีทางล้มเหลว

 

            นอกจากนี้ หลักธรรมพื้นฐานตามหลักศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะเป็น อิทธิบาทสี่ มีใจรัก พากเพียรทำ เอาใจฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบทาน ก็เป็นเหตุแห่งความสำเร็จที่เราเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก การแก้ปัญหาตามลักษณะอริยสัจสี่ คือรู้ในความเป็นจริงว่า อะไรคือปัญหา อะไรเป็นเหตุให้เกิดปัญหา อะไรคือวิธีแก้ปัญหา อะไรเป็นทางปฏิบัติแก้ปัญหา การรู้ในกิจ คือรู้หน้าที่ที่ควรกระทำโดยตลอดนั้นต้องทำอะไร อย่างไร และรู้ในการทำกิจสำเร็จ ว่า ทำแค่ไหนจึงถือว่าสำเร็จ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เรามีอยู่คู่ศาสนาประจำชาติมาตั้งแต่โบราณกาล แล้วเราก็หลงลืมไม่รู้จักนำมาใช้ ไปหลงเชื่อวิธีการที่ชาวตะวันตกคิดและเรียบเรียงขึ้นมาภายหลัง ซึ่งหลายๆเรื่องไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงตามกฎธรรมชาติ เราจึงไม่สามารถแก้ปัญหาและสร้างความสำเร็จได้ ดังนั้น ขอให้กลับไปสู่กฎพื้นฐานตามวัฒนธรรมตะวันออกที่เราคุ้นเคยและขอให้ปฏิบัติอย่างจริงจัง ความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นได้กับทุกๆคน

 

ศิลปะและยุทธวิธีทำงานให้โดดเด่นกว่าคนอื่น

 

            ผมเคยเห็นคนที่สำเร็จการศึกษาสูงๆต้องมาผิดพลาดล้มเหลวตั้งแต่โอกาสแรกๆในการทำงาน ตัวอย่างเช่น คนที่รักอิสระตัวเองมากเกินไป ไม่ยอมเข้าทีมทำงานนอกเวลา คนที่มีข้อจำกัดในการออกทำงานนอกพื้นที่ คนที่ไม่พร้อมจะเข้ามาช่วยงานในกรณีเร่งด่วน ล้วนมีปัญหาและอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทั้งสิ้น นอกจากนี้ ยังมีประเภทหนึ่งที่มาแสดงภูมิความรู้ข่มคนอื่น ซึ่งมักจะไม่ได้รับความร่วมมือจากเพื่อนร่วมงาน ทำให้ไม่สามารถทำกิจการใหญ่ให้สำเร็จได้ ผมไปอ่านพบในตำราบริหารงานบุคคลของชาวจีนหลังจากที่ผมได้เกษียณงานไปแล้ว เห็นว่า หลักการดังกล่าวนี้มีประโยชน์และสอดคล้องกับความเป็นจริง ขอขอนำมาเผยแพร่เป็นวิทยาทานดังนี้

 

            ขั้นตอนตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานใหม่ๆจนไต่เต้าถึงระดับสูง มีแนวทางปฏิบัติดังนี้

 

1         ซุ่มซ้อม   ให้ศึกษาเรียนรู้งานจนเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อน ซึ่งองค์กรระดับสากลมักให้เวลาเรียนรู้ทดลองงานอยู่ระยะหนึ่ง จงใช้ช่วงเวลาดังกล่าวซุ่มหาความรู้ให้มากๆ สังเกตวิธีทำงานและผลของงานที่เกิดขึ้นว่ามีข้อดีและความบกพร่องอะไรหรือไม่ แล้วซ้อมดูว่าจะมีวิธีทำให้ดีขึ้นอย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการประเมินด้วยตัวของเราเองก่อน หากมีข้อสงสัยก็ต้องไปสอบถามหัวหน้าหรือผู้ควบคุมงานว่าเขาจะมีความคิดเห็นอย่างไร คนที่ซุ่มตัวนี้คือคนที่มีทัศนคติดีที่หวังให้มีวิธีการทำงานที่ดีขึ้น ต่างจากผู้ที่ซุกตัว ซึ่งมีมากกว่าครึ่งในทุกๆหน่วยงาน ที่ทำงานตามคำสั่ง ทำงานตามวิธีการเดิมๆที่ได้ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาเป็นประจำ ลองประเมินตัวคุณเองว่า ในช่วงแรกของวัยทำงาน คุณเป็นประเภทซุ่มซ้อมหรือประเภทซุกตัวทำตามคำสั่ง

 

2.         เปิดเผยความสามารถ เมื่อมีความมั่นใจและโอกาสอำนวย ต้องขันอาสาในกิจที่คนอื่นมีความลังเลไม่แน่ใจ เป็นการเผยความสามารถของตนเองออกมาเพื่อรับใช้หน่วยงานที่คุณสังกัดด้วยการเสนอความเห็นและวิธีการใหม่ๆเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และเมื่อมีโอกาสแล้ว ต้องตั้งใจทำให้สำเร็จให้จงได้ ถามตัวเองว่า คุณเคยขันอาสา คุณเคยเสนอความคิดและวิธีการทำงานใหม่ๆต่อหัวหน้าไหม มีเพื่อนร่วมงานคนอื่นทำหรือไม่ หรือมิฉะนั้น คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมหัวหน้าจึงเรียกใช้ใครคนหนึ่งคนใดเป็นประจำไหม คนนั้นแหละ คือคนที่ใช่

 

3.         ระมัดระวังตัว  คนเด่นคนดัง มีทั้งคนชื่นชมและอิจฉา จึงมีผู้ไม่ปรารถนาดีคอยกีดกันกลั่นแกล้ง จึงต้องระวังข้อผิดพลาด ปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นได้จากขาดความร่วมมือของเพื่อนร่วมงาน ในช่วงจังหวะชีวิตนี้ ต้องอาศัยบารมีหัวหน้าคุ้มครอง ให้หัวหน้ามีส่วนได้ประโยชน์จากงานที่เราทำ โดยพยายามสร้างผลงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เป็นช่วงที่ต้องคิดพิจารณาและทำงานให้หนักกว่าคนอื่นด้วยความละเอียดและรอบคอบ ให้คนอื่นเกรงกลัวและยอมรับในความสามารถอย่างจริงใจ

 

4.         กระโดด  เมื่อได้รับความเชื่อถือไว้วางใจและเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปแล้ว ต้องกล้าขันอาสาในงานที่สำคัญและงานใหญ่ยิ่งๆขึ้น อย่ามัวชักช้าเดินทีละก้าว ต้องรู้จักกระโดดข้ามคนรุ่นเดียวกัน หรือย้ายสายงานให้มีระดับเท่าหัวหน้าสายงานเดิม เร่งรัดการงานให้แล้วเสร็จอย่างรวดเร็ว เพื่อจะได้อยู่ในกลุ่มแถวหน้าๆที่มีความสำคัญต่อองค์กร ในช่วงชีวิตนี้ อาจมีคนจากหน่วยงานอื่นมาประมูลตัวคุณไป คุณจะเปลี่ยนงานใหม่ไหม คุณจะย้ายข้ามองค์กรไหม คงเหมือนนักฟุตบอลในสโมสรเล็กๆที่มีแมวมองจากสโมสรใหญ่ๆมาซื้อตัวไป เป็นโอกาสที่จะได้เป็นผู้จัดการ มีรถประจำตำแหน่งเหมือนหัวหน้า ขอถามคุณผู้อ่านว่า ชีวิตการทำงานของคุณได้ก้าวมาถึงขั้นนี้หรือยัง คุณเคยตั้งเป้าหมายว่าเมื่อไรจะมีใครมาชักชวนคุณไปทำงานในระดับผู้บริหารหรือเปล่า

 

5         บิน   ต้องกล้าที่จะเหยียบข้ามคนอื่น ในช่วงนี้ จะมัวเกรงอกเกรงใจเพื่อนร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเดียวกันหรือผู้ที่เคยอยู่สูงกว่าไม่ได้ เพราะการบินนั้น ต้องกระโดดเหยียบผู้อยู่ในระนาบเดียวกัน ห้อยโหนผู้ที่มีอำนาจในชั้นสูงให้ฉุดขึ้นไป ( ชั่วชีวิตในการทำงาน ผมไม่เคยไต่ถึงขั้นบิน เพราะผมไม่กล้าเหยียบข้ามหัวคน และไม่กล้าโหนใคร เพราะกลัวเขาจะปล่อยมือ ทิ้งเราตกลงไปคนเดียว) ความหมายของบินในขั้นนี้ อาจรวมถึงการที่คนๆนั้นจะเปลี่ยนจากมนุษย์เงินเดือนไปทำธุรกิจส่วนตัวก็ได้ เป็นการบินจากลูกจ้างไปเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งต้องการทักษะบริหารในทุกๆด้าน หรือบินจากการเป็นผู้บริหารระดับองค์กรไปเป็นผู้บริหารระดับประเทศในฐานะนักการเมือง

 

 

6         บ้าระห่ำ หรือ จะชะลอตัว ใครที่สามารถบินขึ้นมาขั้นนี้แล้ว มักมีอำนาจและทะนงในความสำเร็จของตน บางคนจะยิ่งกล้าเสี่ยงทำอะไรโดยไม่ฟังใคร ความทะเยอทะยานที่จะสร้างความยิ่งใหญ่  สิ่งที่เขาทำนั้นอาจไม่ชอบธรรม แต่ความที่ได้ทำเช่นนั้นตลอดมาโดยไม่มีใครกล้าทัดทาน สิ่งที่ขัดกับหลักธรรมาภิบาลก็กลายเป็นเรื่องปกติไป ส่วนคนที่มีคุณธรรมความซื่อสัตย์ มีความคิดรอบคอบ เมื่อได้ก้าวมาถึงระดับนี้ จะรู้จักพอใจกับตัวเอง ว่าประสบความสำเร็จถึงจุดสูงสุดแล้ว ก็อาจหมดความตื่นเต้น เหมือนนักกอล์ฟหญิงอันดับหนึ่งของโลกที่เลิกอาชีพไปในขณะที่ยังครองหมายเลขหนึ่งอยู่ เขาคงจะค่อยๆถอยตัวและส่งมอบตำแหน่งหน้าที่ให้ผู้สืบทอดคนใหม่ต่อไป

 

ใครได้อ่านแล้ว จะคิดอย่างไร คิดถึงใคร ผมไม่อาจเดาได้ หลักบริหารตามตำราจีนเรื่องนี้ ผมเพิ่งรับทราบมาไม่กี่ปีนี้เอง รู้แล้ว ผมก็สามารถแยกแยะพฤติกรรมของคนได้ ว่า ใครทำตัวอย่างไร อยู่ในขั้นไหนแล้ว บ้าระห่ำ หรือรู้จักพอ

 

คุณต้องมีความตั้งใจปรับเปลี่ยนสถานะของคุณให้ดีขึ้น

 

 

            มนุษย์เงินเดือนทุกๆคน ณ.เวลานี้ ต่างมีสถานะและตำแหน่งในจุดที่ที่คุณเป็นอยู่ มีผู้บังคับบัญชา มีเพื่อนร่วมงาน และมีลูกน้อง ในชีวิตการทำงานประจำวัน คุณคิดที่จะเคลื่อนย้ายสถานะไปในจุดที่คุณคิดว่าจะดีกว่าเดิมหรือไม่ ขอเพียงให้มีเป้าหมายและกล้าทำจริง ทุกอย่างเป็นไปได้ ขอให้มีความตั้งใจศึกษาเรียนรู้ ใช้ความรู้ทางวิชาการและความสามารถในการคิดเป็นแรงผลักดัน ใช้ความสามารถในการสื่อสารและความมีมนุษย์สัมพันธ์เป็นแรงประสาใช้คุณธรรมและความซื่อสัตย์เป็นเครื่องนำทางไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ จงออกจากมุมสบายที่เคยชิน ทำงานที่ท้าทายกว่าให้หนักเข้าไว้ คุณจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าอย่างแน่นอน ผมขอร้องคุณอย่างเดียว อย่าได้เอาความเป็นอิสระ คุณธรรมและความซื่อสัตย์ไปแลกกับความมั่นคงทางการเงินและตำแหน่งหน้าที่เลย คนที่เขาทำอย่างนี้ สุดท้ายเขาจะเป็นทุกข์  อย่างเช่นที่คุณได้เห็นวาระสุดท้ายของนักการเมืองที่แก่แต่อายุยอมขายตัวขายจิตวิญญาณ สุดท้ายก็ต้องถูกปลดออก เพราะไม่มีใครสามารถสนองความต้องการของคนที่ไม่รู้จักพอได้