Intraoperative OCT

Updated 2016-12-28 23:10:00


เริ่มแรกนั้นเครื่อง Optical coherence tomography (OCT) ยังไม่เป็นที่นิยมในการใช้งานนัก เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ท่านยังไม่มั่นใจศักยภาพของเครื่องมากนัก และหลายๆ ท่านก็ยังเชื่อมั่นในทักษะการตรวจร่างกายมากกว่าผลที่ได้จากการตรวจจากเครื่อง OCT แต่ในปัจจุบันเครื่อง OCT ที่ได้ถูกพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง กลับกลายเป็นเครื่องมือการตรวจวินิจฉัยโรคทางตาหลายๆ โรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะในแง่ของการเห็นภาพของพยาธิสภาพและกายวิภาคที่ชัดเจน นอกจากการใช้เพื่อการวินิจฉัยโรคต่างๆ แล้ว เครื่อง OCT ยังนิยมใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการตรวจคัดกรองโรคทางตาบางโรค และยังใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยตัดสินใจเพื่อวางแผนในการรักษารอยโรคบางชนิด

        ต่อมา ได้มีการพัฒนาเครื่อง OCT ที่ใช้ในขณะทำการผ่าตัดที่เรียกว่า intraoperative OCT (iOCT) ซึ่งเครื่องนี้ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเนื่องจากมีข้อดีหลายประการ เช่น ความสามารถในการมองเห็นภาพทางกายวิภาคที่เปลี่ยนไปซึ่งเกิดจากการผ่าตัดได้ทันที ซึ่งจะช่วยในการวางแผนการผ่าตัดได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดความเข้าใจทางสรีระพยาธิสภาพ ของรอยโรคบางอย่างได้ เช่น epiretinal membrane ,การเกิด macular hole และ การลอกของชั้น retina เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามการใช้งานเครื่อง iOCT นี้ก็อาจเพิ่มระยะเวลาในการผ่าตัด และส่งผลให้การผ่าตัดมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นได้โดยที่ไม่ได้ประโยชน์เพิ่มเติมใดๆ จากการใช้เครื่องดังกล่าว

            เครื่อง iOCT ได้รับการปรับปรุงให้มีการเชื่อมโยงเข้ากับระบบของกล้องส่องขยายที่ใช้ในการผ่าตัด โดยมีชื่อเรียกว่า microscope-integrated iOCT system ซึ่งจะช่วยให้การเห็นภาพพยาธิสภาพจากเครื่อง iOCT ได้ทันทีและต่อเนื่อง และยังจะช่วยให้ระยะเวลาในการผ่าตัดไม่เพิ่มขึ้นมากนักหรืออาจจะไม่เพิ่มขึ้นเลย

           มีการศึกษาที่เรียกว่า DISCOVER study ซึ่งเป็นการศึกษาเชิง prospective เกี่ยวกับความสะดวกของการใช้งาน เครื่อง microscope-integrated iOCT system ของหลายๆ ยี่ห้อที่เป็นเครื่องต้นแบบ (prototype) การศึกษาพบว่าการใช้งานเครื่อง iOCT ซึ่งมีระยะการสแกนที่กว้างและลึก ช่วยทำให้สามารถศึกษารอยโรคที่อยู่ในทุกชั้นของดวงตาได้อย่างชัดเจนทั้ง anterior และ posterior segments

         ซึ่ง เครื่อง iOCT สามารถช่วยแสดงผลของการผ่าตัด membrane peeling ได้ โดยแสดงให้เห็นว่าการลอกยังทำไม่ครบถ้วนได้ถึงร้อยละ 22 และในทางตรงข้ามก็ได้แสดงให้เห็นว่าร้อยละ 15 ของเคสที่จำเป็นที่จะต้องลอกนั้น ได้มีการลอกที่ครบถ้วนแล้วไม่จำเป็นที่จะลอกต่อ   

นอกจากนี้ในแง่ของการซ่อมแซมการหลุดลอกของชั้น retina เครื่อง iOCT สามารถช่วยหาจุดที่จะทำการระบายได้อย่างเหมาะสม ช่วยหา dissection plane หรือ retinal break และยังช่วยตรวจหา full-thickness macular hole ได้

 

ปัจจุบันได้มีการพัฒนาอุปกรณ์การผ่าตัดที่สามารถใช้งานได้กับเครื่อง iOCT โดยเฉพาะ เช่น surgical pick หรือ vitreoretinal forceps ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะถูกออกแบบให้สามารถมองเห็นตัวอุปกรณ์ได้อย่างชัดเจน และไม่ทำให้เกิดแสงเงาหรือการกระเจิงแสงกับบริเวณโดยรอบของอุปกรณ์นั้น ซึ่งจะทำให้ยังคงเห็นพยาธิสภาพได้อย่างชัดเจนขณะที่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าว

By Justis P. Ehlers, MD. Cole Eye institute, Cleveland Clinic Foundation.

 

 พ.ญ.วิทิตา ตัณฑเศรษฐี

 .พ.ศีตธัช  วงศ์กุลศิริ

โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า