Enhancing Training to Meet the Need for Eye Care

Updated 2013-10-18 08:27:28


 

Enhancing Training to Meet the Need for Eye Care


คงจะไม่เกินไปนักหากจะกล่าวว่าจักษุวิทยาเป็นหนึ่งในสาขาแพทย์เฉพาะทางยอดนิยมซึ่งดึงดูดคนเก่งมาสมัครเรียน   (แต่ในขณะเดียวกันก็มีการฝากเข้ามากเช่นเดียวกับโรงเรียนอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ)   เมื่อคนเก่งเหล่านี้ก้าวเข้ามาในแวดวงจักษุวิทยา    ทำอย่างไรจึงจะได้จักษุแพทย์ที่มีคุณภาพออกไปเป็นโจทย์สำคัญของสถาบันฝึกอบรมและราชวิทยาลัยในสภาวะที่ปัจจัยและสิ่งแวดล้อมทางการศึกษาได้เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก
 
 
การฟ้องร้องทางการแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยสำหรับการฝึกอบรมมีจำกัด   ผู้ที่จบการศึกษามีประสบการณ์ในการทำหัตถการบางประเภทน้อยลงกว่าเมื่อก่อน    นอกจากนี้เนื้อหาความรู้ก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าทวี  ยากที่เรียนรู้ให้ถ่องแท้ได้ในเวลาจำกัด      หนังสือ Basic and Clinical science ของ American Academy of Ophthalmology  ที่แพทย์ประจำบ้านถือเป็น “คัมภีร์”      บางเล่มหนาขึ้นกว่าสองเท่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา      เหลียวดูประเทศที่เป็นผู้นำทางการศึกษาด้านนี้ เช่น ออสเตรเลีย  ฮ่องกง  สิงคโปร์  ล้วนแล้วแต่ใช้เวลาฝึกอบรมมากกว่าสามปีทั้งสิ้น
 
จากการประชุมวางแผนยุทธศาสตร์ที่ผ่านมา  ฝ่ายการศึกษาจึงเห็นว่า ควรยกระดับเกณฑ์หลักสูตร    โดยกำหนดวาระการปรับปรุงเกณฑ์หลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านกลางของราชวิทยาลัยฯ ในปี 2557  พัฒนาระบบการประเมินผลให้ดียิ่งขึ้น      สถาบันฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านที่มีไม่มากนักและมีความสัมพันธ์อันดีตลอดมา น่าจะมีการแบ่งปันทรัพยากรในการศึกษา  เช่น  อาจารย์  ข้อมูล   เครื่องมือจำลอง (simulator)    เหล่านี้จะทำให้แพทย์ประจำบ้านที่จบการศึกษาซึ่งจะเข้ามาเป็นสมาชิกราชวิทยาลัยในรุ่นต่อ ๆ ไปมีคุณภาพมาตรฐาน และจักษุแพทย์ไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
 
 
หากมองการรวมประชาคมอาเซียนเป็นโอกาส  การจะเป็นผู้นำในประชาคมนี้เราควรจัดทำ Thailand Ophthalmology Training Program for ASEAN    ซึ่งในปัจจุบันสถาบันฝึกอบรมจักษุแพทย์ในประเทศไทย และวงการจักษุแพทย์ไทยมีความก้าวหน้า มีจักษุแพทย์จากต่างประเทศมาดูงาน และฝึกอบรมอยู่แล้ว อีกทั้งรัฐบาลก็มีโครงการด้านต่าง ๆ ซึ่งอาจมีผลให้มีงบประมาณเข้ามาสนับสนุนงานของราชวิทยาลัย และสถาบันฝึกอบรม เช่น โครงการยกระดับมาตรฐานการผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแห่งประเทศไทยแผนยุทธศาสตร์    ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ เป็นต้น   เมื่อมีแพทย์ต่างชาติเข้ามาฝึกอบรมในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น   ราชวิทยาลัยฯจะรวบรวมข้อมูล และดูแลมาตรฐาน ตลอดจนศักยภาพของสถาบันฝึกอบรมนั้น ๆ
 
การร่วมมือร่วมใจ ประสานกันทำงานโดยมุ่งเป้าหมายเดียวกันของกรรมการราชวิทยาลัย ที่ปรึกษา สถาบันฝึกอบรม ตลอดจนสมาชิกราชวิทยาลัย จะช่วยนำพาองค์กรของเรา และวงการจักษุแพทย์ไทย ให้มีมาตรฐาน มีศักดิ์ศรี เป็นที่ยอมรับกันในระดับสากล และพัฒนาสุขภาพตาของประชาชนในภูมิภาคอาเซียนให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป